สคร.9 ชี้ปีนี้จมน้ำพุ่ง นครชัยบุรินทร์จมน้ำดับ 25 ราย ระวังจุดน้ำท่วมน้ำเชี่ยว

สคร.9 ระบุ ปีนี้สถิติจมน้ำพุ่ง 4 จังหวัดนครชัยบุรินทร์ จมน้ำดับไปแล้ว 25 ราย หวั่นยังมีน้ำท่วมสูง กระแสน้ำเชี่ยว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางน้ำได้ง่าย ย้ำประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 65 นางเบญจมาศ อุนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จังหวัด หลังได้รับอิทธิพลจากพายุฝนในห้วงที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างและกระแสน้ำยังคงไหลแรง เสี่ยงที่ประชาชนจะเกิดอุบัติเหตุทางน้ำได้ง่าย จากการออกไปหาปลาหรือทำกิจกรรมตามแหล่งน้ำต่างๆ อีกทั้งมีประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมักจะพากันออกไปเล่นน้ำในจุดที่มีน้ำไหลหลาก น้ำเชี่ยว หรือน้ำท่วมสูง
 

จากรายงานสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ จำนวน 25 ราย แยกเป็นจังหวัดสุรินทร์ 11 ราย , จังหวัดชัยภูมิ 10 ราย , จังหวัดนครราชสีมา 3 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดจากการออกไปจับสัตว์น้ำ - หาปลาตามแหล่งน้ำ แล้วถูกกระแสน้ำพัดจมหาย นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเล่นน้ำ และสาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุบนบก หรือลื่นล้มแล้วตกลงไปในน้ำ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ มีอายุ 50-59 ปี รองลงมาคือ 60-69 ปี และ 0-9 ปี ตามลำดับ

จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากอุบัติเหตุทางน้ำและโรคภัยต่างๆ หากพื้นที่ใดยังมีน้ำท่วมสูง ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ไม่ควรขับรถหรือเดินลุยน้ำผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม เพราะความสูงของน้ำเพียง 15 เซนติเมตร สามารถทำให้เสียหลักและล้มได้ รวมทั้ง ควรงดทำกิจกรรมทางน้ำ ห้ามเล่นน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมสูงไหลเชี่ยวโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน งดออกหาปลาแต่หากจำเป็นให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะอาจเสี่ยงถูกกระแสน้ำพัดพาหรือตกลงไปในร่องน้ำลึกได้ และกรณีพากันไปเที่ยวตามแหล่งน้ำ ขอให้ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด อย่าให้อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง เพราะปีนี้มีรายงานคนจมน้ำเสียชีวิตหลายรายแล้ว และที่สำคัญ ก่อนลงเล่นน้ำ ออกหาปลา เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง หากไม่มีให้ใช้อุปกรณ์ลอยน้ำอย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขนาด 5 ลิตร สะพายแล่งติดตัวไปด้วย เพื่อช่วยพยุงตัวไม่ให้จมขณะอยู่ในน้ำ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422