น้ำท่วม พ่นพิษพืชผักราคาแพง! ร้านอาหารแบกต้นทุนพุ่ง ผู้บริโภคอ่วม

น้ำท่วม พ่นพิษพืชผักราคาแพง! ร้านอาหารแบกต้นทุนพุ่ง ผู้บริโภคอ่วม

ฤดูฝนปี 2565 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายพื้นที่เดือดร้อน เพราะเผชิญ “น้ำท่วม” แต่สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตรด้วย อย่างล่าสุดคือ “พืชพันธุ์ธัญญาหาร” เมื่อปริมาณผลผลิตน้อยลงทำให้ “ราคาแพง” เป็นประวัติการณ์!

สมมาต ขุนเศษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งปัจจุบันทรานส์ฟอร์มธุรกิจ จากผู้ผลิตรองเท้า กระเป๋า เครื่องหนัง ฯ ขยายสู่การทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะปลูกผักออร์แกนิกหลากชนิด ทั้งผักสลัด ผัดใบ ผักสมุนไพร เช่น กระเพรา คื่นช่าย ผักชีไทยพริกขี้หนูสวน ผักผล เช่น มะเขือยาว บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผักผัว กะหล่ำปลี แครอท ฯ พร้อมปั้นแบรนด์ “WB ORGANIC Farm” เข้าสู่ตลาด จำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ

ทั้งนี้ สถานการณ์ปลูกพืชผัก เริ่มจากกลุ่มอนินทรีย์ ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% เนื่องจากราคาปุ๋ย สารเคมีต่างๆแพงขึ้น โดยปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้ราคาพุ่งยิ่งขึ้น จากประมาณ 1,000 บาทต่อกระสอบ เพิ่มเป็นเท่าตัวระดับ 2,000 บาทต่อกระสอบ

ขณะที่ผักออร์แกนิก แม้ไม่ได้ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี แต่ต้นทุนอื่นๆพุ่งขึ้นไม่แพ้กัน อย่างปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ต่างๆ ทั้งวัว ไก่ ค้างคาว นกฯ ที่ต้องนำมาผสมวัชพืช และยังมีค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่ม ซึ่งมีผลต่อการใช้รดน้ำผัก การเก็บผลผลิตไว้ในห้องเย็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นภาระต้นทุนทั้งสิ้น และขาดไม่ได้คือ “ค่าแรง” เพราะการกำจัดวัชพืชต่างๆ ต้องใช้คนจัดการ

สำหรับแพนฯ มีฟื้นที่ปลูกผักราว 300 ไร่ แต่ใช้ระดับกว่า 100 ไร่เท่านั้น และใช้คนงานหลัก “หลายสิบชีวิต” ซึ่งลดลงเพราะผลพวงจากน้ำท่วม เมื่อผลผลิตต่ำ การจ้างงานจึงลดลง และยังไม่มีการรับคนงานเพิ่ม

น้ำท่วม พ่นพิษพืชผักราคาแพง! ร้านอาหารแบกต้นทุนพุ่ง ผู้บริโภคอ่วม ส่วนภาวะน้ำท่วม กลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ “ผักราคาแพง” เนื่องจากปริมาณผลผลิตหรือยีลด์ที่ออกสู่ตลาดลด “ต่ำลงมาก”

“ผลผลิตพืชผักตอนนี้ โดนฝนถล่มหนัก ทำให้ยีลด์ต่อไร่ต่ำมาก สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด ขณะที่ราคาผักของ WB ORGANIC Farm ต้นทุนเพิ่มขึ้น 30% แต่บริษัทยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้า ส่วนผักทั่วไป ที่ชาวบ้านไม่ได้ปลูกเอง ทำการรับซื้อจากสวนอีกทอด การนำไปขายต่อย่อมราคาเพิ่มขึ้น”

ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารเผชิญต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี กลายเป็นตัวแปรทำให้ธุรกิจร้านอาหารมูลค่าระดับ “แสนล้านบาท” จะเติบโต 5-10% แต่อีกด้านต้นทุนแพง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะรายเล็ก เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้มากนัก เมื่อเทียบกับร้านใหญ่ หรือร้านเครือข่ายในห้างค้าปลีก ซึ่งสามารถปรับกลยุทธ์ นำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

“ต้นทุนแพงขึ้น ผู้ประกอบการพยายามอั้น ไม่ปรับราคา ซึ่งร้านเล็กค่อนข้างน่าเห็นใจ เพราะการปรับราคาทำได้ไม่มากจากจาน 40 บาท 50 บาทเท่านั้น ขณะที่ร้านใหญ่อยู่ในห้างค้าปลีก บางครั้งอาจปรับราคาขึ้นจนผู้บริโภคไม่รู้ตัว เพราะบางร้านอาจไม่แจ้งลูกค้า แต่มีการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่น”

น้ำท่วม พ่นพิษพืชผักราคาแพง! ร้านอาหารแบกต้นทุนพุ่ง ผู้บริโภคอ่วม

สำหรับร้านอาหารภาวะต้นทุน ไม่ใช่แค่พืชผัก ผลผลิตน้อยจากน้ำท่วม แต่ที่ผ่านมาเผชิญทั้งค่าพลังงานอย่างก๊าซหุงต้มปรับขึ้น วัตถุดิบหมู ปลาแซลมอน เป็นต้น โดยหนึ่งในแบรนด์ที่ประกาศขยับราคา คือ เพนกวินกินชาบู(Penguin eat shabu) แจ้งปรับราคาและเมนูใหม่ เช่น สแตนดาร์ดบุฟเฟต์ ขยับเป็น 359++ บาทต่อท่าน ซิลเวอร์ บุฟเฟต์ ราคา 559 ++บาทต่อท่าน และแพลทินัม บุฟเฟต์ 899++บาทต่อท่าน มีผล 10 ต.ค.65 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน สำรวจราคาอาหารสดบางชนิดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าผักชีปรับขึ้น 20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จาก 150-160 บาทต่อกก. เป็น 170-180 บาทต่อกก. ต้นหอมปรับขึ้น 10 บาทต่อกก. จาก 130-140 บาทต่อกก. เป็น 140-150 บาทต่อกก. คะน้าปรับขึ้น 5 บาทต่อกก. จาก 35-40 บาทต่อกก. เป็น 40-45 บาทต่อกก. ผักบุ้งจีนปรับขึ้น 5 บาท จาก 45-50 บาทต่อกก. เป็น 50-55 บาทต่อกกซ โดยการขยับขึ้นราคาของผักสดเป็นผลพวงจากน้ำท่วม สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิต และปริมาณผักเข้าสู่ตลาดลดลง