บทเรียน "กราดยิงหนองบัวลำภู" ฆ่าผู้อื่นโดยวางแผนหรืออารมณ์ล้วนๆ ?

บทเรียน "กราดยิงหนองบัวลำภู" ฆ่าผู้อื่นโดยวางแผนหรืออารมณ์ล้วนๆ ?

ผู้ก่อเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู" ถ้าสาเหตุที่สรุปว่าไม่ได้เสพยาบ้า พฤติกรรมแบบไหนที่ส่อเค้าว่าอันตรายต่อสังคม แล้วปมแบบไหนนำไปสู่การกระทำอันเลวร้าย

ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์การกราดยิงอีกครั้ง จากเหตุการณ์โคราชเมื่อสองปีที่แล้ว ล่าสุดการกราดยิงหนองบัวลำภู มีเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิต 38 คน เป็นเรื่องที่เศร้าสลดของคนทั้งประเทศ

ทั้งๆ ที่การกราดยิงไม่เคยเกิดขึ้นในสังคม แต่เมื่อสองปีที่แล้วมีเหตุการณ์การกราดยิงในที่ชุมชนที่โคราช ครั้งนี้เกิดที่ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู ซึ่งเด็กๆ ไม่มีทางที่จะหนี ซ่อน สู้ได้เลย 

การกราดยิงในที่ชุมชน (Mass Shooting) โดยส่วนใหญ่จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 คน (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) ผู้ก่อเหตุจะไม่กำหนดกฎเกณฑ์ล่วงหน้าว่าจะทำร้ายใครหรือยิงใคร และจุดจบของผู้ก่อเหตุจะมีสองแบบ คือ จนมุมไม่สามารถต่อสู้ได้ หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย และถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม

“ผู้ร้ายจะยิงเก็บแต้ม ยิงคนตายมากเท่าไหร่ เขาจะยิ่งรู้สึกว่าเก่ง และยังมีคนร้ายอีกจำพวกที่เคียดแค้นสังคม ต้องการฆ่าคนให้เยอะที่สุด ถ้าเหยื่อกระจายออกแนวกว้าง เขาจะเลือกกลุ่มคนที่เยอะที่สุด” ข้อมูลจากงานเสวนาEscape and Survive in Mass Shooting โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตอนเกิดสถานการณ์การกราดยิงโคราช 

แรงกระตุ้นแบบไหนนำไปสู่การกราดยิง

เมื่อเร็วๆ นี้แม่ยายของผู้ก่อเหตุให้ปากคำตำรวจสั้นๆ ว่า "ลูกเขยไม่ค่อยพูด ถามอะไรก็ไม่ค่อยอยากตอบ เก็บไว้ในใจอย่างเดียว"

ส่วนผลตรวจสารเสพติดครั้งที่ 1 ของผู้ก่อเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ยังไม่พบสารเสพติด แม้จะมีข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดช่วงย้ายมาอยู่ที่ สภ.นาวัง และไม่พบประวัติการรักษาอาการทางจิต 

มีรายงานการสืบสวนสอบสวนอีกว่า ผู้ก่อเหตุทะเลาะกับภรรยา ซึ่งภรรยาโทรศัพท์ไปหาแม่ที่บ้านและขอให้มารับ

นอกจากนี้มีข้อมูลรายงานว่า ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณ เช่น ยิงปืนขึ้นฟ้า ก้าวร้าว ไม่เคารพผู้บังคับบัญชา พัวพันยาเสพติด รวมทั้งมีปัญหาครอบครัว จุดนี้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงปูมหลังได้บางส่วน

เหล่านี้คือข้อมูลคร่าวๆ ของผู้ก่อเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากในการวิเคราะห์พฤติกรรม

รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เล่าถึงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมก่อความรุนแรงไว้ว่า สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลปกติหรือบุคคลทั่วไป ทั้งในเชิงคำพูดและการกระทำเพราะพฤติกรรมรุนแรง เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์

"คนที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงมักมีพฤติกรรมมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีตัวตนในสายตาผู้อื่น การก่อความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้หากมีมูลเหตุจูงใจและโอกาสที่ประจวบเหมาะกัน "

ยกตัวอย่างการตัดสินใจและพฤติกรรมที่จะลงมือกระทำ ได้โอกาสพอดีพอเหมาะกับช่วงเวลา สถานที่ การเข้าถึงอาวุธ เข้าถึงสถานที่ก่อเหตุ ดังนั้นในการป้องกันและแก้ไข คือต้องสร้างโอกาสในการป้องกัน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเกิดความรุนแรงในสังคมได้

“หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์กราดยิงจะก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบ ผมมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะการกระทำความรุนแรงในเชิงกราดยิงต้องมีแรงจูงใจเพียงแต่การนำเสนอเรื่องกราดยิง จะเป็นการให้คนเรียนรู้วิธีที่จะทำ

เช่นเดียวกับว่า ทุกคนรู้ว่าเราจะต้องขโมยของอย่างไร รู้ว่าตัวเองจะฆ่าตัวตายอย่างไร แต่ถามว่าเราจะทำไหม เราไม่ทำเพราะเราไม่มีอะไรมากระตุ้นให้เราทำ” ดร.สมโภชน์ให้ข้อมูลไว้

กราดยิง ฆ่าผู้อื่นเพื่ออะไร

การฆ่าตัวเอง และการฆ่าผู้อื่น มีทั้งแบบธรรมดา (ด้วยรักโลภโกรธหลง) เกิดขึ้นได้ทั้งวางแผนและไม่วางแผน 

เรื่องนี้ ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

  • การฆ่าต่อเนื่อง โดยวางแผน serial killer เลือกที่จะกระทำต่อเหยื่อบางกลุ่ม คือเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ ที่ทำแล้วสามารถปกปิด หลุดรอดได้ ไม่ถูกจับ ในสถานที่ที่ไม่มีใครเห็น เช่นในโรงแรมหรือในบ้าน เช่นกรณีสมคิด ที่มีการฆ่า แล้วเว้นระยะ แล้วกลับมาทำใหม่ แล้วทิ้งระยะอีก
  • การฆ่าต่อเนื่องด้วยอารมณ์ spree killer ก็คือพาไปยิงคนแรก คนที่สอง และคนที่สามต่อไปด้วยอารมณ์ ยิงไปเรื่อยๆ ในสถานที่แตกต่างด้วยระยะเวลาอันสั้น ลักษณะแบบนี้มีการวางแผนอยู่บ้าง เช่น กรณีที่ลพบุรี พอยิงคนแรกไปแล้ว ก็ยิงคนอื่นตามไป โดยไม่มีเหตุผล แต่การที่จะไปปล้นก็มีการวางแผนมาก่อน
  • การฆ่าแบบกราดยิงหรือ Mass Shooting ส่วนใหญ่มีการวางแผน  เพราะการจะทำอย่างนั้นได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอาวุธ เช่นในกรณีโคราช ผู้ก่อเหตุมีการคิดแล้วว่าจะไปปล้นอาวุธ และมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กก่อนว่าเดี๋ยวคอยดู จะมีข่าวใหญ่ เช่นเดียวกับในอเมริกา ผู้ก่อเหตุก็จะโพสต์หรือมีการบันทึกเอาไว้ว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ให้คนจดจำ

 ...................

อ้างอิง 

-https://www.chula.ac.th