การจัดการความขัดแย้ง : การระงับข้อพิพาททางเลือก

การจัดการความขัดแย้ง : การระงับข้อพิพาททางเลือก

นับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในช่วงระยะเวลากว่า 30 ที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมมีการพัฒนาด้านความคิด ค่านิยมและความเชื่อในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างหลากหลาย การติดต่อสื่อสารด้านเทคโนโลยี่ที่มีความรวดเร็ว มีผลต่อการส่งต่อข้อมูลอย่างกว้างขวาง

มีการยกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่หลายคนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นกว่าในอดีต ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจหรือต้มยำกุ้ง มีการลอยตัวค่าเงินบาท มีการเปลี่ยนรัฐบาล การแบ่งแยกความคิดด้านการเมือง การเดินขบวนแบบแยกสีเสื้อ จนกระทั่งมีการปฏิวัติรัฐประหารถึงสองครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปี

มีการยกเลิกและใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ตามลำดับแต่ความขัดแย้งในหลายมิติยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในทางงานวิจัยนั้น ความขัดแย้งมาจาก 5 สาเหตุหลักคือ การสื่อสาร อารมณ์ ประวัติศาสตร์ ค่านิยมและประการสุดท้ายคือสาเหตุด้านโครงสร้าง เช่น การตกลงวิธีการระงับข้อพิพาท หรือในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

โดยในเรื่องโครงสร้างทางสังคมนั้นอาจกล่าวได้ว่าประเทศเรามีการจัดการความขัดแย้งมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองแบบพ่อกับลูกื และทรงให้นำกระดิ่งร้องทุกข์มาแขวนที่หน้าประตูวังโดยประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ เพื่อการชำระตัดสินข้อขัดแย้งหรือคดีความได้

ต่อมาเมื่อระบบสังคมขยายตัวมากขึ้นเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การเติบโตของสังคมอยู่ภายใต้หลัก บวร (“บ้าน วัด โรงเรียน”) ที่มีบิดามารดา เจ้าอาวาส ครู ต่างปฏิบัติหน้าที่เป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” (Conciliator) หรือ “ผู้ประนอม” (Mediator) โดยปริยายซึ่งวิธีการหรือกระบวนการก็มีความแตกต่างกันในแต่ละมิติแต่ถือได้ว่าเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่า “ADR” นั้นที่ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากได้พิจารณาในส่วนของกระบวนการนั้น ADR ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ

  1. การเจรจา (Negotiation)
  2. การประนอมข้อพิพาท (Mediation) หรือ การไกล่เกลี่ย (Conciliation)
  3. กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ (Arbitration)
  4. การดำเนินคดีในศาล (Litigation) ซึ่งมีการนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาททางครอบครัว (Family Mediation)

การจัดการความขัดแย้ง : การระงับข้อพิพาททางเลือก

การระงับข้อพิพาทเชิงสมานฉันท์แบบการประนอม (Mediation) นั้นส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างน้อย 5 ประการ คือ 1) การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันของคู่พิพาท 2) การรักษาความลับ 3) ระยะเวลาที่ใช้จะไม่นานมากเหมือนกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือการทำคดีความในศาล 4) ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยสามารถดำเนินการเองโดยมีหรือไม่มีทนายความได้ 

และ 5) หากคู่กรณีผิดข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ (Settlement Agreement) แต่อย่างใดแล้ว สามารถนำสัญญาดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับได้ทันทีตามเงื่อนไขของสัญญาประนีประนอมยอมความ

ในทางกฎหมายนั้น ประเทศไทยมีการพัฒนาด้าน ADR มาเป็นเวลากว่า 30 ปีรวมถึงการที่ประเทศไทยได้ลงนามผูกพันในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ. 1958 (The Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards) หรือที่เรียกอย่างย่อว่า “New York Convention” ในการบังคับตามคำวินิจฉัย (Arbitral Award) ขององค์คณะอนุญาโตตุลาการ โดยปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ถึง 170 ประเทศยอมรับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้

ยกตัวอย่างเช่น มีคำวินิจฉัยขององค์คณะอนุญาโตตุลาการ ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพฯ ประเทศไทย ให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ยื่นข้อเรียกร้องที่มีภูมิลำเนาและทรัพย์สินอยู่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชำระค่าเสียหายจำนวน USD 5,000,000 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ผู้เรียกร้องสามารถนำคำวินิจฉัยดังกล่าวไปบังคับเอากับทรัพย์สินของผู้คัดค้านได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถทำได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ โดยนำคำวินิจฉัยไปขอให้ศาลที่ผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ออกคำบังคับหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยขององค์คณะอนุญาโตตุลาการได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

อย่างไรก็ตาม การดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนักแต่ก็ได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับในแต่ละมิติของการระงับข้อพิพาททางเลือก โดยมีกฎหมายที่สำคัญๆ อยู่หลายฉบับแต่ขอนำมาเล่าสู่กันฟังสองฉบับคือ 1) พระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 และ 2) พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562

หัวใจสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ คือ การมีพื้นที่ของความเป็นกลางที่คู่กรณีซึ่งมีข้อพิพาทหรือความขัดแย้งได้มาพูดคุย เจรจาและหาทางออกร่วมกันโดยมีบุคคลที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ และมากด้วยความรู้ประสบการณ์มาทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ประนอม หรือผู้ไกล่เกลี่ย ให้สามารถหาข้อยุติได้ร่วมกัน

การจัดการความขัดแย้ง : การระงับข้อพิพาททางเลือก