'ข้อริเริ่มบีอาร์ไอ'ถึงเวลาต้องเพิ่มทุน

'ข้อริเริ่มบีอาร์ไอ'ถึงเวลาต้องเพิ่มทุน

'ข้อริเริ่มบีอาร์ไอ'ถึงเวลาต้องเพิ่มทุน ขณะรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ของไทยมีความเห็นว่า นักลงทุนสามารถฉวยโอกาสทางธุรกิจจากโครงการบีอาร์ไอได้ และใช้ประเทศไทยเป็นปากประตูสู่อนุภูมิภาคและอาเซียน

บรรดารัฐมนตรีจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องเมื่อวันพุธ(1ก.ย.)ให้มีการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติมากขึ้นผ่านโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(บีอาร์ไอ)ของจีนเพื่อสนับสนุนแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19ยังคงส่งผลกระทบฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

รัฐมนตรีอาเซียนซึ่งประชุมร่วมกันในการประชุมซัมมิตแถบและเส้นทางทางออนไลน์ กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงดิจิทัลจากโครงการริเริ่มบีอาร์ไอ แต่ข้อริเริ่มใหม่จะสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจไม่เอื้ออำนวย และมีความไม่แน่นอนเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

" ในมุมมองของผม ผมคิดว่ามีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนที่เกิดจากการเป็นหุ้นส่วนพหุภาคีและความร่วมมือภายใต้โครงการบีอาร์ไอ"สรรเสริญ สมะลาภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย กล่าวพร้อมยกตัวอย่างโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย มูลค่า 5,750 ล้านดอลลาร์ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมถึงกัมพูชาและลาวเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน

โครงการนี้ซึ่งลงนามเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้วหลังจากล่าช้ามานานเพราะติดปัญหาเงื่อนไขด้านต่างๆ โดยในเบื้องต้น เส้นทางรถไฟระยะทาง 253 กิโลเมตรจะเชื่อมกรุงเทพฯกับนครราชสีมา ปากประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งการก่อสร้างในเฟสแรกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2569 ส่วนเฟสสุดท้ายระยะทาง 873 กิโลเมตรจะไปถึงเวียงจันทน์เมืองหลวงของประเทศลาว และจากจุดนั้นเส้นทางรถไฟต่อไปถึงคุนหมิง มณฑลยูนานของจีน

“บรรดานักลงทุนสามารถฉวยโอกาสทางธุรกิจจากโครงการนี้ได้และใช้ประเทศไทยเป็นปากประตูสู่อนุภูมิภาคและอาเซียน”สรรเสริญ กล่าว

ด้าน“สมสะหวาด เล่งสะหวัด” ที่ปรึกษารัฐบาลและพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟลาว-จีน กล่าวว่า การก่อสร้างแล้วเสร็จไปมากกว่า 90%แล้ว และการเตรียมการด้านอื่น ๆ เพื่อเปิดการเดินรถไฟมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งฝ่ายจีนและลาว รวมทั้งบริษัทร่วมทุนรถไฟจีน-ลาวยืนยันว่าโครงการนี้จะเสร็จทันกำหนดในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2 ธ.ค.นี้

ขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่จีนที่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตในครั้งนี้ ที่รวมถึง“เกา ยุนหลง” รองประธานคณะกรรมการแห่งชาติของที่ประชุมที่ปรึกษาทางการเมืองเพื่อประชาชนของจีนและ“หวัง เหวินเทา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

โครงการ“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดยมุ่งเน้นสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟ ถนน และท่าเรือ ในเกือบ 140 ประเทศทั่วโลก แต่กลุ่มประเทศตะวันตกมองว่า เป็นความพยายามในการแผ่อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการสร้างกับดักหนี้ ล่อลวงประเทศยากจน

“ตัน ซี เหล็ง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ กล่าวต่อที่ประชุมซัมมิตว่าแผนเร่งพัฒนาของอาเซียนมีความสำคัญมากถ้าประเทศต่างๆสามารถเอาชนะภาวะการชลอตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้

“ในช่วงเวลาแบบนี้ บีอาร์ไอดำเนินบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความร่วมมือพหุภาคีด้วยการส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเงินและการค้า”ตัน กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ได้หั่นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเหลือ 7.2%จา่ก7.3% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย.โดยระบุถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในเร็วๆนี้และอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในหลายประเทศของอาเซียน

ตัน กล่าวว่า สิงคโปร์จะเป็นหุ้นส่วนกับจีนในการลงทุนบางด้านในโครงการบีอาร์ไอ โดยบริษัทเอกชนจากทั้งสองประเทศกำลังร่วมมือกันในหลายภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน และการให้บริการทางด้านกฏหมาย

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา สิงคโปร์และจีนลงนามใน 5 ข้อตกลง ที่ทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นในการประสานความร่วมมือทางการค้า การบังคับใช้กฎหมายและโครงการภายใต้นโยบายบีอาร์ไอ

สิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดสำหรับจีนในปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 23% จากมูลค่าการลงทุนทั้งหมดจากจีนสำหรับโครงการบีอาร์ไอ

สิงคโปร์และจีนมีความร่วมมือกันในตลาดประเทศที่ 3 ในหลายภาคส่วน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน ไปจนถึงบริการเฉพาะกิจ ตัวอย่างเช่นธนาคารดีบีเอส และแบงก์ ออฟ ไชนา บริษัทเหมืองแร่ชั้นนำระดับโลกและบริษัทโลจิสติกส์ของจีน“ยันไต พอร์ท”ที่ร่วมลงทุนโรงกลั่นในอินโดนีเซีย

ด้าน“เจอรี แซมบัวกา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย ระบุว่า โครงการบีอาร์ไอสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงกันและสร้างโอกาสทางธุรกิจ

“เราต้องรักษาความเป็นหุ่นส่วนที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่กันและกันท่ามกลางความท้าทายที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก”แซมบัวกา กล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีความร่วมมือกันมากขึ้นในโครงการด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียที่เอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น