อย่าให้ 'การเมือง' เป็น 'ตัวถ่วง' แก้วิกฤติชาติ

อย่าให้ 'การเมือง' เป็น 'ตัวถ่วง' แก้วิกฤติชาติ

การแก้ "วิกฤติโควิด" ในประเทศต้อง อาศัยการ "บูรณาการ" จากทุกภาคส่วน เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ไม่ใช่การเล่นการเมืองดึงผลประโยชน์เข้าตัว จนกลายเป็น "ตัวถ่วง" แก้วิกฤติชาติ

มาตรการ "คลายล็อก" ที่เริ่มไปแล้วตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าบริการ กลับมาดำเนินการได้ต่อ ตามเงื่อนไขมาตรการที่คุมเข้มทั้งจากผู้ประกอบการ และผู้เข้าใช้บริการ

แต่ภาพรวมของการแก้ปัญหาโควิดของประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจสักเท่าไร เมื่อเปอร์เซ็นต์การ "ฉีดวัคซีน" ของไทยยังอยู่ในระดับ "ต่ำมาก" โดยตัวเลขผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว เพียงแค่ 8.9 ล้านคนเท่านั้น

ขณะที่ "จำนวนผู้ติดเชื้อ" ลดต่ำลงไม่ถึง 15,000 คนต่อวัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังสูงน่าเป็นห่วง ขณะที่โลกยังไม่หมดความกังวลกับเชื้อ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" และมีการกลายพันธุ์ ที่ต้องเฝ้าระวัง ยังมาไม่ถึงไทยก็จริงแต่ก็วางใจไม่ได้ มาตรการยังต้องเข้มโดยเฉพาะตามแซนด์บ็อกซ์ต่างๆ

การแก้วิกฤติโควิดในประเทศ จึงยังต้องอาศัยการ "บูรณาการ" จากทุกภาคส่วน เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งที่ผ่านมารัฐยังทำได้ไม่ดี แสงสว่างที่เราว่า เริ่มมองเห็นแล้วที่ปลายอุโมงค์ จริงๆ แล้ว อาจเป็นเพียงแค่แสงหิ่งห้อยเท่านั้น เพราะมาตรการคลายล็อกที่ออกมาก็ดูยังติดๆ ขัดๆ ไม่มีอะไรที่เป็นนโยบายในระยะยาว

เพื่อปูทางสำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศได้เลย ทุกอย่างยังดูไม่ต่างจากการออกนโยบายแบบรายชั่วโมง แม้ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารขนาดใหญ่ จะออกมาขานรับ และพร้อมปรับมาตรการควบคุมการใช้บริการ ให้เข้ากับข้อกำหนดของสาธารณสุขกันอย่างพร้อมเพรียง 

แต่อย่าลืมว่า ยังมีร้านค้า ร้านอาหารรายย่อย ที่เปิดอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน สายป่านไม่ยาว ที่มีความเสี่ยงและเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจว่าจะต้องถูกล็อกกะทันหันอีกหรือไม่ และถ้าต้องถูกปิดล็อกขึ้นมาอีกครั้ง จะทำอย่างไร

ไม่ว่าจะสต็อกวัตถุดิบที่สั่งมาเตรียมพร้อมให้บริการในระยะยาว เงินเดือนจ่ายพนักงานที่กลับเข้ามาทำงาน ดังนั้นมาตรการคลายล็อกของรัฐจากนี้ ต้องทำให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่น และเบาใจ มีแผนรองรับในระยะยาวด้วย คลายล็อก เปิดเมือง แผนฟื้นฟูเยียวยา ต้องไปด้วยกัน มีความชัดเจน และครอบคลุมทุกกลุ่ม 

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ การซักฟอก การชี้แจงของทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ที่ดำเนินมาเกือบสัปดาห์ แม้จะไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ เอาท์พุท อะไรมากมาย แต่จะดีมากถ้าครั้งนี้ เราจะสามารถดึงเอาข้อเสนอของแต่ละฝ่ายมาปรับ ประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ที่ยึดโยงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

อย่าให้การอภิปรายฯ ที่กินเวลายาวนาน กลายเป็นเรื่องที่หาสาระไม่ได้ อย่าให้ การเล่น "การเมือง" แบบเดิมๆ ที่มีแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่เหนือการแก้ปัญหาที่ชาติกำลังเผชิญ จนกลายเป็น "ตัวถ่วง" ความเจริญของประเทศ และลดทอนความสำคัญการแก้วิกฤติโควิดที่ต้องเป็นวาระเร่งด่วนเดียวในขณะนี้