BTSC ยื่นซื้อซองชิง 'สายสีส้ม' ต.ค.

BTSC ยื่นซื้อซองชิง 'สายสีส้ม' ต.ค.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) BTSC พร้อมซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ขอดูเงื่อนไขก่อนตัดสินใจยื่น ส่วนพันธมิตรยังจับมือกลุ่มเดิม ด้านรฟม. กำหนดขายซองต.ค. แม้เหลือคดีทุจริตในศาลอาญาฯ และคดีร้องเรียนป.ป.ช. ข้อหาฮั้วประมูล

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ระบุ บีทีเอสในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจรถไฟฟ้า ยืนยันจะเข้าร่วมซื้อซองเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแผนจะเปิดขายซองในช่วงเดือนต.ค. 2564 เพราะต้องซื้อซองมาศึกษาก่อนอยู่แล้ว ส่วนจะประมูลหรือไม่ต้องขอดูรายละเอียดในเอกสารประกวดราคา ขณะที่พันธมิตรที่จะเข้าร่วมประมูลยังยืนยันว่าเป็นกลุ่มเดิม คือ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

ส่วนการยื่นฟ้องระหว่าง BTSC และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 3 คดี ประกอบด้วย
1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงข้อมูล 2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และ 3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวน

ด้านผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ระบุ คดีการฟ้องร้องการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เหลือคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ได้รับคำฟ้องกรณีที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งฟ้องตนและคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงงมีนบุรี-บางขุนนนท์ (สุวินทวงศ์) รวม 7 คน ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

ส่วนคดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 กรณีที่รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 แก้ไขทีโออาร์หลังจากเปิดขายซองไปแล้ว หลังจากที่มีการร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งน่าเชื่อว่าจะมีการกีดกันการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) อันอาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 นั้น ผู้ว่าการรฟม. ระบุว่า ล่าสุด รฟม.ได้มีส่งข้อมูลชี้แจงต่อป.ป.ช.แล้ว ซึ่งการดำเนินงานเป็นอย่างไร อยู่ระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช.

สำหรับคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง ขณะนี้เหลือคดีที่บริษัทเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหาย 5 แสนบาท เพื่อชดใช้กรณีที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 ยกเลิกการประมูลไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 และคดียกเลิกประมูลโดยมิชอบ ซึ่งมองว่าไม่น่าจะกระทบกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ เพราะคดีคล้ายกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดล่าสุด (1 ก.ย. 2564) ที่ยืนตามศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องคดีที่อ้างว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กระทำการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และห้ามมิให้รฟม.กระทำหรือดำเนินการใดที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ถือได้ว่าการห้ามมิให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่สิ้นสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาล่าสุด รฟม.เห็นว่าสามารถที่จะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ โดยไม่ต้องรอคดีจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งรฟม.มีแผนเสนอร่างประกาศเชิญชวนต่อคณะกรรมการตามมาตรา 36 พิจารณา ซึ่งจะประชุม 2-3 ครั้ง ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. หลังจากนั้นจะประชุมคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อกำหนดเงื่อนไขการประมูล และเปิดขายเอกสารภายในต.ค. และให้ระยะเวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอ 90 วัน โดยยื่นข้อเสนอในช่วงม.ค.ปี 2565 และใช้เวลาในการประเมินข้อเสนอ 3 เดือน จะทำให้สามารถได้ผู้ชนะและเสนอครม.เห็นชอบเม.ย. ปี 2565 ส่วนจะใช้เกณฑ์พิจารณาเทคนิค 30 ราคา 70 หรือไม่ ขึ้นกับคณะกรรมการตามมาตรา 36