‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่32.44บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่32.44บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้บาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากความหวังคลายล็อกดาวน์ กระแสฟันด์โฟลว์หนุน แต่ยังไม่คลายกังวลจับตาเดือนนี้โควิดจะกลับมาแพร่ระบาดอีกหรือไม่ จากการตรวจเชิงรุกไม่ครอบคลุม และตลาดการเงินเริ่มระวังตัวมากขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากกว่าคาด มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.10- 32.30บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(1..) ที่ระดับ  32.23 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ32.10-32.30 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและรัฐบาลได้ประกาศทยอยผ่อนคลายมาตรการ ล็อกดาวน์ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว (อัตราการตรวจพบเชื้อ หรือ Positive Rate ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%)

จึงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง ซึ่งอาจจะต้องจับตาแนวโน้มการระบาดในระยะ 3-4 สัปดาห์ หลังจากสัปดาห์แรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ จนอาจกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่

อนึ่ง แม้ว่า เงินบาทยังมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าได้บ้าง จากความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่ ทว่า กว่าจะถึงจุดดังกล่าวเงินบาทก็สามารถแข็งค่าได้ถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับหลักต่อไป หากยังมีโฟลว์การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาหนุนค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น

ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าคาด หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 113.8 จุด ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน และแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 124 จุด จากปัญหาการระบาดของเดลต้าและภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ตลาดการเงินโดยรวมยังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่า ที่ประชุม OPEC+ อาจมีมติทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลงราว -0.13%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลง -0.06% เช่นกัน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาดหุ้นยุโรปนั้นมาจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เริ่มออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอี เหมือนกับในฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับมาปรับตัวขึ้นราว 3bps สู่ระดับ 1.31% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ซึ่งอาจสะท้อนถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ได้ โดยผู้เล่นในตลาดมองว่า หากข้อมูลการจ้างงานออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด (Nonfarm Payrolls สูงกว่า 7.5 แสนราย) อาจจะช่วยหนุนให้เฟดมีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเดินหน้าทยอยลดคิวอีได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะตลาดการเงินที่กลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.67 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากตลาดจะรอดูยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls)

ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดย ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจการทยอยลดคิวอีในปีนี้มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ได้ในระยะสั้น

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมซึ่งสำรวจโดย ISM (Manufacturing PMI) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่อาจกดดันให้ทั้งภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 59 จุด

นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานผ่าน ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจใช้เป็นสัญญาณของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ ได้ โดย ตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชน มีโอกาสเพิ่มขึ้นราว 6 แสนราย หนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ