เรื่องเล่าแม่โพสพบ้านพัทลุง กับความเชื่อคนโบราณ

เรื่องเล่าแม่โพสพบ้านพัทลุง กับความเชื่อคนโบราณ

ความเชื่อของคนในสมัยโบราณ ถือกันว่าข้าวเป็นตัวแทนของ"แม่โพสพ" ข้าวให้ชีวิต และการทำนาต้องอาศัยน้ำฝน หากทำไม่ดีเทวดาจะแช่งให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล

ครอบครัวทางพ่อของดิฉันเป็นชาวนาเมืองพัทลุง ทางแม่เป็นชาวสวนกรุงเทพ

ขอเล่าเรื่องทางแม่ก่อนนะ ก่อนไปเล่าเรื่องชาวนาพัทลุง

แต่ก่อนคุณยายดิฉัน ทำสวนผลไม้ มะกอก อยู่ตรงพื้นที่ใกล้วัดมะกอก ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในปัจจุบัน ตอนแม่ดิฉันเด็กๆ แม่ทำสวน วิ่งเล่น หัดว่ายน้ำ จับกุ้งปลามาทำห่อหมกอยู่แถวนั้น และคุณยายกับป้าดิฉันจะเก็บผลไม้หลากหลายนานาไปขายกันที่ตลาดมหานาค

ตอนหลังเขตสวนกว้างไพศาลที่คุณยายทำสวนปลูกผลไม้ไว้หลายขนัด ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสร้างเป็น รพ.ราชวิถี รพ.เด็ก และรพ.ประสาท ก่อนช่วงโควิด เวลาดิฉันเข้ากรุงเทพฯ ไปหาหมอรักษาตาที่รพ.ราชวิถี

ดิฉันมักเดินเล่นอยู่ใน รพ.ราชวิถี นึกถึงเรื่องเล่าของครอบครัว ว่าตรงนี้ ย่านนี้ เคยเป็นสวนที่ทำมาหากินของคุณยายทองอยู่ โภคามาศ กับก๋งยู่ฮวด แซ่ฉั่ว นักเลงจีนขาบู๊ดุเดือด มาเมืองไทยตั้งแต่อายุ 15 มาทำโป๊ะปลาทูเมืองสมุทรปราการ

แล้วมารักกับคุณยายทองอยู่สาวชาวสวนบางยี่ขัน บุกเบิกสร้างครอบครัวกันมา มาทำร้านขายของชำ มีลิ้นจี่ดองเกลือจากเมืองจีนใส่ไหไว้ตักขายเป็นลูกๆ และมาทำสวนผลไม้อยู่ย่านวัดมะกอก

ก่อนสงครามญี่ปุ่นคุณยาย ก๋ง ลุง ป้า ของดิฉันทำร้านชำ ขายกาแฟด้วย และปลูกผัก ปลูกผลไม้ ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่รพ.ราชวิถีในปัจจุบัน

ที่ซึ่งคุณแม่ดิฉันในวัยแก่ก็ได้เคยมานอนเจ็บอยู่ที่นี่ หลายปีก่อนดิฉันก็เคยมานอนป่วยรักษาตัวอยู่ที่นี่ และน้องสาวคนเล็กก็มาคลอดลูกน้อย น้องต้นไทรที่นี่

เดินทางไปมา เดินไปเดินมา กรุงเทพฯ-เพชรบุรี...เราไม่ได้ห่างไกลจากบ้านเก่าสวนเก่าของคุณยาย เราวนเวียนกันอยู่ในที่ซึ่งเป็นตำนานของครอบครัวนี้เอง

สำหรับครอบครัวทางพ่อดิฉัน เราเป็นชาวนาภาคใต้ อยู่กันริมควนลูกเล็ก ที่อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ลุง ป้า อาดิฉันก็เป็นชาวนา สร้างชีวิตมาด้วยจอบ เสียม คันไถ วัวควาย เรามีเรื่องเล่าเก่าในครอบครัวอยู่หลากหลาย

163031362916

(ยุคโควิดระบาด คนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ อพยพกลับบ้านร้อยเอ็ดไปเริ่มชีวิตชาวนากันใหม่ ภาพนี้ได้มาจากคุณม่อน จันลา ชาวนาบ้านนาโพ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด)

ข้าว...ตัวแทน'แม่โพสพ'

เมื่อครั้งดิฉันทำวิจัยเรื่องแม่โพสพ ดิฉันก็ได้สอบถามความรู้ในเรื่องพิธีกรรมชาวนาภาคใต้ จากน้องคนเล็กของพ่อ ที่เลี้ยงดูดิฉันมาแต่เด็ก คือครูลำใย เพ็งแก้ว

ครูลำใย เพ็งแก้ว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2490 ครูลำใยเป็นทั้งชาวนาและครูที่โรงเรียนประชาบาลบ้านควนพลี อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ในวัยเด็กครูลำใยได้เห็นการทำนาและการไหว้แม่โพสพของคนเฒ่าในครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งครูลำใยเล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับแม่โพสพเอาไว้ ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2545 ดังนี้คือ

ความเชื่อของคนในสมัยโบราณ ถือกันว่าข้าวเป็นตัวแทนของแม่โพสพ ข้าวให้ชีวิต และการทำนาต้องอาศัยน้ำฝน หากทำไม่ดีเทวดาจะแช่งให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล

ดังนั้นชาวนาต้องทำทุกอย่างตามพิธีแต่โบราณ และต้องทำด้วยความเคารพนับถือ เริ่มตั้งแต่การหว่านไถ ต้องดูฤกษ์ยามที่ดีและต้องกับดวงชะตาของผู้ทำด้วย

เช่น บางคนลงทำนาวันเสาร์จะเจ็บป่วย หรือถูกของมีคมจากเครื่องมือทำนา เช่น จอบ ไถ ฯลฯ ดังนั้นการเริ่มทำนาจึงต้องทำตามโบราณ และต้องไปดูกับหมอโบราณ

การแรกไถ ถือกันว่าถ้าทำนาดำ ต้องเริ่มไถนาวันพุธ เพราะวันพุธเป็นวันเน่าวันเปื่อย วัชพืชต่างๆ ในนาจะเน่าตายกลายเป็นปุ๋ยได้ง่าย

 

ถ้านาหว่านต้องแรกไถวันอาทิตย์ เพราะถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันไฟ วัชพืชต่างๆ จะถูกไฟเผาไหม้ ให้เหลือแต่ต้นข้าวเจริญเติบโตเต็มที่

การหว่านข้าว (ตกกล้า) ต้องดูวันจากหมอโบราณเช่นกัน เพราะจะได้ปลอดพ้นจากพวกยาด (ศัตรูพืชจำพวกสัตว์) คนส่วนใหญ่จะลงมือทำนากันในวันธงชัย วันอธิบดีของแต่ละปี

ตอนแรกของการตกกล้า เริ่มจากเจ้าของนานำพันธุ์ข้าวที่จะหว่านไปที่นาซึ่งทำเทือกไว้เสร็จแล้ว เจ้าของนาต้องนุ่งผ้าโจงกระเบน ถือกันว่าข้าวจะถอนได้ง่าย ทำเป็นเนินขึ้นแล้วเอาพันธุ์ข้าวนั้นหว่านให้ทั่วเนิน (เนินประมาณเท่ากระด้ง) เสร็จแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า “วันนี้วันดีแล้วให้ข้าวเจริญงอกงาม ปลอดยาดปลอดยอ......แล้วแต่ละคนจะนึกอธิษฐานเอาเองตามใจชอบ

การเก็บเกี่ยว เริ่มจากเมื่อรวงข้าวเริ่มเป็นสีเหลืองทางปลายรวง ถือว่าถ้ามีวันดีเจ้าของจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ แม้ข้าวจะยังไม่สุกดีก็ตาม

เมื่อถึงวันฤกษ์ที่เหมาะกับตัวเอง ให้ทำพิธีเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก่อน และต้องไปทำในตอนบ่าย ไปถึงที่นาจะต้องลงมุมนา มุมใดมุมหนึ่งตามที่หมอโบราณบอก

แล้วเก็บข้าวเพียงสามกอที่ใกล้เคียงกันเป็นรูปเครื่องหมายเพราะฉะนั้น(สามจุด) แล้วนำกอทั้งสามมามัดให้เป็นช่อโดยผูกให้ปลายต้นข้าวที่เกี่ยวแล้วให้ปลายลงล่าง ให้สูงจากพื้นดินประมาณ 40-50 เซนติเมตร

จากนั้นเอาดินในนาระหว่างกลางกอข้าวทั้งสามวางไว้บนมัดช่อประมาณเท่าข้อมือเด็กเล็ก ขณะที่ช่อเรียกว่า ช่อซังเจ้าของจะต้องว่าคาถากำกับด้วย (แต่พี่ชายครูลำใย คือลุงพร้อม เพ็งแก้วว่าไม่ได้แล้ว)

เสร็จแล้วจึงเก็บเกี่ยวตามปกติ หรือรอให้ข้าวสุกดีก่อนแล้วค่อยเก็บเกี่ยวก็ได้ เพราะถือว่าได้ลงเก็บเกี่ยวในวันดีไว้แล้ว