'สุพัฒนพงษ์' ชี้มาตรการภาษีสนับสนุนรถ 'EV' ในไทย คลอดเดือน ก.ย.นี้

'สุพัฒนพงษ์' ชี้มาตรการภาษีสนับสนุนรถ 'EV' ในไทย คลอดเดือน ก.ย.นี้

"สุพัฒนพงษ์" ชี้มาตรการภาษี-ไม่ใช่ภาษี หนุนรถEV ในไทยเตรียมคลอดเดือน ก.ย. เชื่อช่วยสร้างแรงจูงใจผลิต - ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เดินหน้าหนุนพลังงานสะอาดสั่งสนพ.เร่งทำแผนพลังงานสะอาด 50% ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ในปี ค.ศ. 2065 - 2070

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยกับเป้าหมายลดการปล่อย CO2" ในงานสัมนาทิศทางพลังงานไทย จะไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างไร? โดยรัฐบาลมีแผนการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนคือจะเริ่มจากการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถ EV ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030  

ทั้งนี้หลังจากที่คณะทำงานเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลได้ทำงานมาระยะหนึ่งในเดือน ก.ย.จะมีความชัดเจนเรื่องของมาตรการสนับสนุนทั้งในเรื่องมาตรการภาษีและมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งมาตรการนี้จะช่วยจูงใจทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้รถให้มีความสนใจในการใช้รถ EV มากขึ้น 

"การออกมาตรการมาสนับสนุน EV จะเป็นการนำร่องออกมาโดยไม่ต้องรอให้ตลาดมีความต้องการที่ชัดเจนมากแต่มาตรการที่ออกมาจะจูงใจ ควบคู่ไปกับการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้มีความพร้อมรองรับรถ EV มากขึ้น"

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่าว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยคาร์บอนไดร์ออกไซด์ (CO2) ที่สอดคล้องกับทิศทางของนานาชาติ โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับล่าสุดได้มีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ที่ 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม

โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปกำหนดแผนและรายละเอียดต่างๆแบ่งเเป็นแผนระยะ 5 ปี และ 10 ปี โดยแผนนี้จะต้องสอดคล้องกับแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2075 ที่เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประกาศเป็นเป้าหมายในการลด CO2 ให้เป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่าการทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อย Co2 จะต้องมีการปรับลดการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมรถ EV รวมทั้งการทำแผนการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยแผนนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการจะนำแผนไปรับฟังความคิดเห็น และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ในปีหน้า โดยเป็นหนึ่งใน 5 แผนที่อยู่ในแผนทั้งหมดของแผนพลังงานชาติที่จะมีการนำเสนอต่อไป  

โดยการลงทุนในเรื่องของพลังงงานสีเขียวจะมีผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 โดยต้องคำนึงถึงพลังงานสะอาด ความมั่นคงเรื่องพลังงาน และเรื่องของการรักษาเสถียรภาพค่าไฟฟ้าที่ไม่กระทบกับต้นทุนของธุรกิจ และค่าครองชีพประชาชนในระยะยาว 

"แผนพลังงานชาติจะเน้นในเรื่องของพลังงานสะอาด แผนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในเขตเมือง โดยในช่วงการเปลี่ยนผ่านยังเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ต่อที่สุด"