ทำอย่างไรเมื่อ 'เด็กติดเชื้อโควิด-19' การดูแลทั้งที่ รพ.และรักษาที่บ้าน

ทำอย่างไรเมื่อ 'เด็กติดเชื้อโควิด-19' การดูแลทั้งที่ รพ.และรักษาที่บ้าน

ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด 26 ส.ค. 64 พบติดเชื้อรายใหม่ 18,501 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 229 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 12 ปี 1 ราย แนะแนวทางดูแลเมื่อ 'เด็กติดเชื้อโควิด-19' ทั้งกรณีอยู่โรงพยาบาลและรักษาที่บ้าน

วันนี้ (26 ส.ค. 64) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 18,501 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศและมาจากต่างประเทศ 18,362 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 139 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 1,120,872 ราย 

162995947284

มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 229 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 10,220 ราย ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 10,314 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ 186,934 ราย กลุ่มคนไข้อาการหนัก 5,174 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 1,090 ราย ผู้ป่วยหายป่วยกลับบ้านวันนี้ 20,606 ราย สะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 มี 896,195 ราย มีผลบวก ATK อีก 2,339 ราย 

162995947110

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • 10 อันดับ ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 

162995947118

  • อัตราป่วยไทย 16,012 ต่อล้านประชากร

สำหรับสถานการณ์ในทวีปเอเชีย พบว่าประเทศที่มีผู้ป่วยต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ญี่ปุ่น บังคลาเทศ และไทย โดยอัตราป่วยของไทย 16,012 ต่อล้านประชากร ขณะที่อัตราตาย 147 ต่อล้านประชากร

162995947140

  • เด็ก 12 ขวบ เสียชีวิต 1 ราย 

สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 229 ราย เป็นเพศชาย 127 ราย หญิง 102 ราย ค่ากลางอายุ 65 ปี (12 - 97 ปี) ค่ากลางเวลาทราบผลติดเชื้อจนเสียชีวิต 10 วัน นานสุด 93 วัน โดยยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 151 ราย คิดเป็น 66% มีโรคเรื้อรัง 57 ราย คิดเป็น 25% รวม 2 กลุ่มคิดเป็น 91% โดยมีเด็ก 12 ปี เสียชีวิต 1 ราย จ.ชลบุรี มีโรคประจำตัว ได้แก่ มะเร็งต่อมไพเนียล

162995947170

  • แนวทาง ดูแลเมื่อ "เด็กติดโควิด-19" 

แนวทางการดูแลเมื่อพบว่าลูกน้อยติดเชื้อโควิด19 โดย สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19  มีดังนี้

1. กรณีต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล


1.1 กรณีเด็กและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลร่วมกันกับผู้ปกครอง โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว ไม่ควรแยกเด็กเล็กออกจากผู้ปกครอง


1.2 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยมีผู้ดูแลที่ไม่มีโรคประจำตัว และอายุไม่เกิน 60 ปีเข้าดูแลเด็กด้วย หากเป็นโรงพยาบาลสนาม ควรขอจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้

2. กรณีเฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน (Home Isolation)


อุปกรณ์เพื่อใช้ติดตามอาการ และบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน

  • ปรอทวัดไข้
  • ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • อุปกรณ์ที่สามารถถ่ายภาพ หรือ คลิปวิดีโออาการของเด็กได้
  • ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่

สังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยระดับอาการของเด็กแบ่งเป็น 2 แบบ

  • อาการในระดับที่สามารถเฝ้าสังเกตอาการที่บ้านต่อไปได้ คือ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก มีอาการไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหาร หรือนมได้ปกติ ไม่ซึม

  • อาการในระดับที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร

เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาล

- ติดต่อที่เบอร์สายด่วน โทร 1668 / 1669 หรือ 1330

- ติดต่อสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทาง Line ด้วยการเพิ่มเพื่อน COVID QSNICH ที่ Line id : @080hcijL

- ลงทะเบียนข้อมูลให้ครบถ้วน หลังจากนั้นให้รอเจ้าหน้าที่ของสถาบันติดต่อกลับภายใน 24 ชม. หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 1415

162995947060