“ปฏิรูปตำรวจ”ครึ่งปีคืบ 14 มาตรา เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติ “ยืนคนละฝั่ง”

“ปฏิรูปตำรวจ”ครึ่งปีคืบ 14 มาตรา  เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติ “ยืนคนละฝั่ง”

การปฏิรูปตำรวจ ถูกสังคมให้ความสนใจอีก หลังเกิด คลิปคลุมหัวฯ สุดอื้อฉาว คำถามใหญ่ คือ ปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ ไปถึงไหน? ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ รัฐสภารับหลักการ ไปเมื่อ ต้นปี 2564 ล่าสุดไปถึงไหนแล้ว?

       คลิป “คลุมหัว ไถเงินผู้ค้ายา จ.นครสวรรค์” ที่สร้างผลกระเทือนถึงจิตใจของคนในสังคม จนกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่โถมใส่ “วงการตำรวจ” และถูกตั้งคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างชัดแจ้งว่า ถึงเวลาต้องล้างบาง “ตำรวจ” ที่ไม่สุจริตต่อหน้าที่อย่างจริงจัง และปฏิรูปองค์กรตำรวจให้เป็น "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อย่างแท้จริงแล้วหรือไม่?

       เมื่อพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ คำถามที่ควรถูกตั้งถามคู่ขนานกับ “องค์กรตำรวจ” คือ “ฝ่ายบริหาร“ และ ”ฝ่ายรัฐสภา”

       ขณะนี้ การปฏิรูปตำรวจตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ในหมวดปฏิรูป ในส่วน “ด้านกระบวนการยุติธรรม” กำลังขับเคลื่อนทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ผ่านกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ซึ่งมี “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน

162994254234

       การขับเคลื่อนดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการฯ นั้น ดูน่าผิดหวัง เพราะใช้เวลา 6 เดือนแต่ผ่านการพิจารณาไปเพียง 14 มาตรา จากเนื้อหาที่ “คณะรัฐมนตรี” ส่งมาให้ทั้งสิ้น 172 มาตรา

       เหตุผลที่ขับเคลื่อนช้า เพราะกรรมาธิการฯ งดประชุมยาว 2 เดือนจากสถานการณ์ระบาดระดับวิกฤติของโควิด-19 แต่ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 นี้ กมธ.กลับมานัดประชุมกันอีกครั้ง เป็นการประชุมครั้งที่ 12

       ต่อเรื่องนี้ “คำนูณ สิทธิสมาน" ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการฯ และผู้ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ตั้งไข่สมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อยมาจนถึงชั้นกฤษฎีกา ชุดที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ฐานะกฤษฎีกาที่ทำคลอดร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า การพิจารณาของกรรมาธิการฯ คืบหน้าได้น้อย ปัจจัยสำคัญนอกจากต้องหยุดเพราะสถานการณ์โควิด และการพิจารณากฎหมายไม่สามารถประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว ยังมีประเด็นความเห็นแย้ง-เห็นต่างทางความคิดของกรรมาธิการในทุกประเด็น

       เมื่อดูองค์ประกอบของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ทั้ง 46 คน พบว่าเป็นโควตาของ ครม. 8 คน ส.ว. 14 คน และสภาฯ 24 คน ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวพบว่าเป็น กมธ.ที่ติดยศตำรวจถึง 13 คน และบางคนพบความเกี่ยวพันกับข้าราชการตำรวจ

       จึงอาจเป็นข้อสังเกตหนึ่งว่า การปรับแก้ไขเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ที่คืบหน้าได้น้อย เพราะยังยันกันอยู่ระหว่างฝั่งที่ได้ กับฝั่งที่เสียประโยชน์จากเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้หรือไม่?

       ในความเห็นของ ส.ว.คำนูณ มองว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีธง ว่าจะยึดเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใด ระหว่างฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดที่มี “อ.ชัย” เป็นประธาน หรือฉบับที่ปรับแก้ไขจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทำให้ กมธ.ที่มีความแตกต่างทางความคิด และมีความเห็นหลากหลาย รวมถึงมีความเห็นต่างกันทุกประเด็น การพิจารณาจึงยืดเยื้อ

162994282531

       “การจัดทำร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดใช้เวลาค่อนข้างนาน และเมื่อกฤษฎีกาทำร่างกฎหมายเสร็จตามตารางเวลา แล้ว ต้องรับฟังความเห็นของหน่วยงานคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กลับพบว่ามีการแก้ไขปรับปรุงอย่างกว้างขวาง เมื่อเข้าสู่รัฐสภา ตั้งกรรมาธิการ พิจารณายังพบความเห็นที่หลากหลาย แม้การระดมความเห็นเป็นสิ่งที่ดี แต่มีข้อเสียคือแนวโน้มร่างกฎหมายจะถูกแก้ไขไปจากหลักการสำคัญ ดังนั้นจึงไม่สามารถมองได้ว่าทิศทางของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นไปตามสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นหัวใจไว้หรือไม่” ส.ว. คำนูณ ระบุ

       กับหลักการที่ต้องการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมี 4 ข้อ คือ 1.ยุติธรรมไม่ล่าช้า 2.ระบบสอบสวนคดีอาญาต้องมีระบบถ่วงดุล 3.พัฒนาวัฒนธรรมองค์กร มุ่งอำนวยความยุติธรรมประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว 4.ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรตำรวจ แต่งตั้งโยกย้าย บริหารงานบุคคล ให้ตำรวจมีความเป็นอิสระ มีประสธิภาพ และภาคภูมิใจในการทำหน้าที่

       ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสนอเข้าสู่รัฐสภา กำหนดหลักการไว้แบบกว้างว่า “ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”

       ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนออกมาเป็นรายละเอียด ที่เปรียบเป็นวิธีปฏิบัติในร่างกฎหมาย ต้องติดตามให้ดีว่าจะเป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ วางหลักการไว้หรือไม่ ในเมื่อคนทำกฎหมายชั้นนิติบัญญัติยังมีจุดยืน และมุมมองคนละฝั่ง.