กสม. ชี้เหตุตำรวจซ้อมผู้ต้องขังดับ ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. ชี้เหตุตำรวจซ้อมผู้ต้องขังดับ ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. ชี้เหตุตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องขังถึงแก่ความตายละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง แนะรัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายซ้อมทรมานฯ – ปฏิรูปองค์กรตำรวจตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ตามที่ปรากฏข่าวและคลิปของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกรับผลประโยชน์กระทั่งผู้ต้องหารายดังกล่าวได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต นั้น 

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกเอกสารว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ คือ

1. เร่งสอบสวนและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มดังกล่าวด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ตลอดจนจัดให้มีการคุ้มครองพยานที่รัดกุม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาสั่งการให้มีการติดกล้องวงจรปิดในกระบวนการและสถานที่สอบสวนทุกแห่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน

2. เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ตามที่ กสม.เคยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร 0503/ว(ล)26227 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เห็นชอบให้บรรจุเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพื่อให้มีการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องตามอนุสัญญา CAT ที่ประเทศไทยเป็นภาคีโดยเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

3. ผลักดันให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการ และกฎระเบียบ โดยเฉพาะกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยให้อัยการเข้ามากำกับการสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสากลและหลักสิทธิมนุษยชน อันจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะองค์กรตำรวจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องขังหรือผู้ต้องสงสัยว่ามีความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง