'มูลนิธิพระมหาไถ่' จัดห้องรองรับผู้พิการติดโควิด-19 กว่าร้อยห้อง

'มูลนิธิพระมหาไถ่' จัดห้องรองรับผู้พิการติดโควิด-19 กว่าร้อยห้อง

'มูลนิธิพระมหาไถ่' เตรียมที่พักคอยรองรับผู้พิการติดเชื้อ 'โควิด-19' มากกว่าร้อยห้อง พร้อมจับมือคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจคัดกรองบุคลากรและครอบครัว ผลพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย

นายสัมฤทธิ์ ชาภิรมย์ ผู้จัดการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ ทางมูลนิธิฯซึ่งทำงานเกี่ยวกับผู้พิการได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลบางละมุง ในการร่วมดูแลผู้พิการที่ติดเชื้อ โควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.บางละมุง

โดยได้จัดเตรียมที่พักคอยสำหรับกักตัวและรับการดูแลทางการแพทย์ แบ่งเป็นห้องที่ออกแบบสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ 60 ห้อง และห้องสำหรับผู้พิการที่สามารถเดินได้อีก 60 ห้อง ขณะเดียวกัน ในส่วนของบุคลากรของมูลนิธิฯเอง ก็จัดเตรียม Community Isolation สำหรับรองรับในกรณีที่บุคลากรและนักเรียนติด โควิด-19 โดยใช้พื้นที่ชั้น 5 ของอาคารพักนักเรียน สามารถรองรับได้ประมาณ 50-60 คน

นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ในชุมชนของมูลนิธิฯนั้นมีทั้งสถาบันการศึกษา บุคลากร ตลอดจนมีความร่วมมือกับบริษัทต่างๆในการจ้างงานคนพิการ ซึ่งในส่วนของนักเรียนนอกจากนักเรียนนักศึกษาที่เป็นคนพิการแล้ว ก็ยังมีเด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส ซึ่งเมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็เลยให้อยู่บ้านเรียนออนไลน์ จะมีเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษที่ยังเดินทางไปกลับ ในส่วนบุคลากรก็มีทั้งที่ทำงานกับมูลนิธิฯเอง และบุคลากรที่ทำงานกับบริษัทอื่นๆและไม่สะดวกในการเดินทางในช่วงนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็จัดสรรพื้นที่สำหรับเป็นที่ทำงานให้

162987964935

อย่างไรก็ดี ปรากฎว่าบุคลากรบางส่วนที่ใช้พื้นที่มูลนิธิฯสำหรับทำงานแต่มีที่พักอาศัยอยู่ภายนอก ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 คน ทางมูลนิธิฯจึงได้ประสานกับ สปสช.เขต 6 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลบางละมุง ทำการอบรมให้ความรู้และตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่บุคลากรและครอบครัวรวมทั้งหมด 592 คน เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ปรากฎว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 คน และได้จัดห้องพักสำหรับกักตัวและเข้าสู่ระบบการดูแลของโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ได้ตกลงกับทางโรงพยาบาลว่าในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่เกิน 20 คน โรงพยาบาลจะรับดูแล แต่หากมากกว่านั้นก็จะเข้าเข้าระบบ Community Isolation ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

ด้าน ดร.ธารารัตน์ ขาวเขียว คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะเทคนิคการแพทย์เป็นหน่วยร่วมให้บริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้านบริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับ สปสช. มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก

162987964972

ซึ่งล่าสุดได้รับการติดต่อจาก สปสช. ให้เข้าไปช่วยดำเนินการค้นหาและคัดกรองโรคโควิด-19 เชิงรุก ในด้านการเก็บสิ่งส่งตรวจ การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติงาน และปฏิบัติการภาคสนามตามมาตรฐานสาธารณสุข ให้กับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร กลุ่มคนพิการ เด็กกำพร้า ณ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ดร.ธารารัตน์ กล่าวว่า จากการตรวจคัดกรองทั้งสิ้น 594 ราย พบว่ามีผู้มีผลตรวจเป็นบวกจำนวน 2 ราย จึงได้เก็บตัวอย่างตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR โดยส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคระดับโมเลกุล คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ซึ่งนอกจากจะทำการตรวจคัดกรองแล้ว ยังได้ทำการบรรยายและให้เอกสารการให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยวิธี ATK กับทางผู้ประสานงานของมูลนิธิฯ

ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำสำหรับผู้มารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งในชุดความรู้ดังกล่าวได้ให้รายละเอียดข้อบ่งใช้ การแปลผล การตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยวิธี ATK ตลอดจนแนวทางปฏิบัติตัวหลังจากทราบผลการตรวจ ที่ครอบคลุมสำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำหรือไม่เสี่ยง และกลุ่มที่อยู่ในระหว่างการกักตัว รวมทั้งการตรวจด้วยตนเอง

162987964983