รัฐสภา ถกแก้รธน. วาระสอง - 'ส.ส.ก้าวไกล' ห่วงปรับเพิ่มเขตเลือกตั้ง ถูกมีอำนาจแทรกแซง

รัฐสภา ถกแก้รธน. วาระสอง - 'ส.ส.ก้าวไกล' ห่วงปรับเพิ่มเขตเลือกตั้ง ถูกมีอำนาจแทรกแซง

สมาชิกรัฐสภา อภิปรายเนื้อหาร่างแก้รธน. "ส.สงก้าวไกล" ท้วง แก้รธน. ปรับระบบเลือกตั้ง ไม่ตอบโจทย์ให้ ผู้แทนราษฎรดูแลประชาชน ห่วง กกต. ถูกแทรกแซง ขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ด้าน "ส.ส.เสรีรวมไทย" เชื่อ จะฟื้นผี-เผด็จการรัฐสภา

       ที่ประชุมรัฐสภา ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ....  ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จัดทำแล้วเสร็จในวาระสอง โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานกมธ.ฯ กล่าวรายงาน โดยแจ้งยกเลิกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและ รายงานของกมธ. ที่เสนอวันที่ 19 สิงหาคม และใช้ฉบับใหม่ที่แก้ไขปรับปรุง วันที่ 24 สิงหาคม หลังจากที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ยืนยันว่ากมธ. ปรับแก้ไขเนื้อหาตามที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติ
       จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การพิจารณาเรียงลำดับเป็นรายมาตรา โดยมาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กมธ. ได้แก้ไขจำนวนของส.ส. โดยให้ ส.ส. มีจำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คนและแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งนี้กมธ. ได้เพิ่มวรรคสอง ระบุให้การเลือกตั้ง ส.ส. ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบละ 1 ใบ
       โดยบรรยากาศการอภิปรายนั้น ยังคงเป็นไปอย่างปกติ มีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายตามคำขอแปรญัตติที่สงวนไว้จำนวนมาก ทั้งนี้ มี ส.ส.ที่อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขของ กมธ. ฯ ทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นต้น
       ทั้งนี้ยังพบว่ามีส.ส.ที่ไม่เห็นด้วย จากฝั่งพรรคก้าวไกล , พรรคเสรีรวมไทย โดยได้ตั้งคำถามกับการแก้ไขของกมธ.ฯ ต่อการแก้ระบบเลือกตั้ง และจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต สามารถดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงมากกว่าระบบเดิมที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้มีส.ส.เขต 350 คนหรือไม่  
       โดยนายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามและขอคำชี้แจงจากกมธ. ถึงเหตุผลอย่างสมเหตุสมผลต่อการแก้ไขจำนวน ส.ส.เขต พร้อมแสดงความเห็นและความกังวลต่อการกำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหากสามารถแก้ไขจำนวนเขตได้ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะอาจขีดเส้นแบ่งตามผู้มีอำนาจ แทนการแบ่งพื้นที่ที่เหมาะสมกับการดูแลประชาชน นอกจากนั้นยังเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เหมาะสมเพราะทำให้มีตัวแทนจากกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น ชนเผ่า, กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สามารถเข้าสภาฯ เป็นตัวแทนของกลุ่มได้
       ขณะที่นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่าการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งของกมธ.ฯ​อาจเป็นการปลุกผี ที่หลายคนเคยกลัวขึ้นมา และอาจทำให้สภาฯ กลายเป็นสภาฯที่มีเสียงข้างมากเผด็จการ.