กลยุทธ์การเคลื่อนสู่หลักสูตร     ฐานสมรรถนะใน อีอีซี

ในบทความที่ผ่านมาได้กล่าวถึงหลักสูตรฐานสมรรถนะกับการพัฒนา อีอีซี ในบทความนี้จะเล่าประเด็นที่ไม่ได้พูดถึงกันมากนักในการขับเคลื่อนงานด้านหลักสูตรฐานสมรรถนะ ถ้ากล่าวให้เฉพาะเจาะจงคือการเปลี่ยนผ่านจากหลักสูตรปัจจุบันสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ

ในบทความที่ผ่านมาได้กล่าวถึงหลักสูตรฐานสมรรถนะกับการพัฒนา อีอีซี ในบทความนี้จะเล่าประเด็นที่ไม่ได้พูดถึงกันมากนักในการขับเคลื่อนงานด้านหลักสูตรฐานสมรรถนะ ถ้ากล่าวให้เฉพาะเจาะจงคือการเปลี่ยนผ่านจากหลักสูตรปัจจุบันสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ 

มีการพิจารณาประเด็นสำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง ว่าด้วย ประการแรก ในเรื่องของความเชื่อมโยงในการศึกษาระดับต่าง ๆ การศึกษาเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันและต้องมองการดำเนินงานตลอดแนว ไม่ใช่เพียงแค่ระดับใดระดับหนึ่ง แม้การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา) แต่ส่งผลกระทบไปยังการดำเนินงาน อีอีซี ในภาพรวม เพราะผลผลิตและผลลัพธ์เหล่านี้จะเป็นปัจจัยป้อนให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายของ อีอีซี ได้ในระยะต่อไป

การทำงานในพื้นที่จึงจำเป็นต้องมองงานการศึกษาในเชิงระบบ ในพื้นที่ควรมีความคล่องตัวและเป็นแบบมีเครือข่าย กล่าวคือการศึกษาในแต่ละระดับควรมีการออกแบบรองรับกัน นักการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษาควรเห็นภาพการดำเนินงานที่เชื่อมต่อกัน เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงตั้งแต่เล็กจนโต จนถึงการเข้าสู่การทำงาน ประเด็นคือแม้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไป แต่การศึกษาระดับอื่นควรปรับตัวรองรับด้วย ซึ่งการเคลื่อนตัวที่รวดเร็วควรสามารถรองรับการทำงานเชิงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นการกำหนดแนวทางการดำเนินงานรองรับการเปลี่ยนแปลงครอบคลุมทุกระดับการศึกษาจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ในส่วนนี้จำเป็นต้องอาศัยการประชุมและเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานในหลายระดับ เพื่อวิเคราะห์สภาพการณ์ในปัจจุบันและช่องว่างที่มีอยู่เพื่อการขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มองภาพว่าหากเด็กแต่ละคนเลื่อนระดับแล้วจะไปต่อหรือรับช่วงอย่างไร ที่ทำให้ไม่เกิดการสะดุดระหว่างทาง

ประการที่สอง บทบาทของคนที่เกี่ยวข้อง การเคลื่อนไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย และในอีอีซี ไม่ควรมีเพียงนักการศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนเท่านั้น แต่ควรรวมถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วย การดำเนินงานสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ควรเป็นแผนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ที่สร้างการรับรู้ที่ตรงกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานทางการศึกษา และหน่วยงานผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องเข้าใจและเห็นภาพการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงไปใน อีอีซี เพื่อสร้างเส้นทางการศึกษาและอาชีพรองรับเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกัน ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรจะทำให้ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกิดความเข้าใจและร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาให้เกิดขึ้น การกำหนดแผนการสื่อสารสร้างความเข้าใจในพื้นที่และนอกพื้นที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญ

ประการที่สาม สิ่งที่ควรทำเพื่อตอบโจทย์ อีอีซี สิ่งที่ควรทำคงมีหลายอย่าง แต่สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรก ๆ เลยคือการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนในพื้นที่ให้ชัดเจน ทราบมาว่าในพื้นที่จังหวัดระยองมีการจัดทำผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ (Desired Outcomes of Education) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ดีโออี ของจังหวัด ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำงานที่ดีมาก

ดีโออี เป็นสิ่งที่จังหวัดควรดำเนินการอย่างยิ่ง เพราะสะท้อนเอกลักษณ์และบริบทของพื้นที่ได้อย่างดี ทำให้เกิดเป้าหมายร่วมของคนทำงานในพื้นที่อย่างชัดเจน และเห็นภาพตรงกันว่าจังหวัดจะนำพาเด็กและเยาวชนไปสู่การเป็นอะไรในอนาคต จากการศึกษาที่จัดอยู่ ตรงนี้เห็นว่าทุกจังหวัดควรดำเนินการจัดทำ โดย ดีโออี ในพื้นที่ อีอีซี ควรสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของ อีอีซี ด้วย จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม

กลยุทธ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบในพื้นที่ ซึ่งยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถหยิบเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การสร้างการเดินทางของเด็กและเยาวชนจากจุดเริ่มต้นไปสู่การเข้าสู่ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป