สภาเภสัชฯ จัดระบบ 'ร้านขายยา' จุดแจก 'ชุดตรวจโควิด ATK' ฟรีให้ ปชช.กลุ่มเสี่ยง

สภาเภสัชฯ จัดระบบ 'ร้านขายยา' จุดแจก 'ชุดตรวจโควิด ATK' ฟรีให้ ปชช.กลุ่มเสี่ยง

นายกสภาเภสัชกรรมแจงเงื่อนไข 'ร้านขายยา' ช่วยกระจาย 'ชุดตรวจโควิด ATK' ฟรี ตามมติบอร์ด สปสช.ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ พร้อมประสาน อย. ให้ 'ร้านขายยา'ช่วยจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ให้แก่ผู้ป่วยโควิด HI ในอนาคต

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการให้ร้านขายยาเป็นจุดกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ฟรี 8.5 ล้านชิ้นให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศตามมติบอร์ด สปสช. ว่า ร้านขายยา ที่จะเป็นจุดกระจายชุดตรวจโควิด ATK นั้นจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ และต้องเปิดทำการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมไปถึงต้องขึ้นทะเบียนกับทางสปสช. ด้วย

สำหรับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK จะต้องเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในที่ที่มีผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการคล้ายโรคโควิด-19 เช่น ไอ มีไข้ เป็นต้น โดยเมื่อก่อนถ้าในครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ ทุกคนจะวุ่นวายในการหาที่ตรวจ RT-PCR และต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล ซึ่งการใช้ชุดตรวจ ATK จะทำให้รู้ผลไวขึ้น รวมไปถึงสามารถค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น

“เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงเราไม่ได้อยากให้ออกมาเดินกับผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรจะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ฉะนั้น สปสช. จึงมีระบบสำหรับกลุ่มเสี่ยงเพื่อขึ้นทะเบียนก่อน” รศ.ดร.ภญ. จิราพร ระบุ

  • 'ร้านขายยา' แจก 'ชุดตรวจโควิด ATK' ต้องขึ้นทะเบียนกับทางสปสช.

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้น สปสช. จะแจกจ่ายรายชื่อไปตามร้านยาใกล้บ้าน หรือตามความจำนงของผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยร้านขายยาจะติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงเพื่อซักถามอาการ หรือข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์แอปพลิเคชัน จากนั้นจะดำเนินการส่ง ชุดตรวจโควิด ATK ไปให้ที่บ้าน พร้อมคำแนะนำและอธิบายให้เข้าใจถึงวิธีการตรวจโควิดด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรจะต้องถ่ายรูปส่งกลับมาที่ร้านขายยา เมื่อร้านขายยาพบว่ามีผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ก็จะแนะนำให้กักตัวที่บ้าน และอีก 3-5 วันก็จะดำเนินการส่งชุดตรวจ ATK ไปให้อีกครั้งเพื่อยืนยันผลตรวจอีกทีหนึ่ง

ในกรณีเมื่อตรวจแล้วพบว่าผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) เภสัชกรจะสอบถามอาการเพื่อประเมินกลุ่มอาการเขียว-เหลือง-แดง ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวสามารถรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) ได้ ซึ่งเภสัชกรจะจัดชุดยาที่ใช้รักษาตามอาการส่งให้ที่บ้านพร้อมติดตามอาการทุกวัน

ขณะเดียวกัน ถ้าไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ก็จะแนะนำให้ไปรักษาในชุมชน (Community isolation) เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ผ่านการลงทะเบียนกับทาง สปสช. แล้ว ในกรณีถ้าเป็นกลุ่มอาการสีเหลือง- แดง สปสช.ก็จะทราบว่าต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลใด ซึ่งก็จะทำให้ระบบเดินไปได้อย่างรวดเร็ว

“นั่นแปลว่าก็จะทำให้หาผู้ติดเชื้อได้เพื่อแยกออกมาจากสังคม ขณะเดียวกันก็ลดโอกาสในการพัฒนาเป็นกลุ่มสีเหลือง-แดงของผู้ป่วยจากการรอเตียง ซึ่งเราก็ส่งยาไปให้ได้เลย” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :สภาเภสัชฯ ดึง 'ร้านขายา' กระจาย ATK - ยาฟาวิฯ ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน

                   ราชกิจจาฯ ประกาศให้ยา 'ฟาวิพิราเวียร์' แก่ผู้ป่วยโควิด-ผู้ตรวจ 'ATK'

                  'สภาเภสัชกรรม' ออกแถลงจี้ รบ.ฉีดวัคซีน 'ผู้สูงอายุ-7โรคกลุ่มเสี่ยง' ก่อน

  • ประสาน อย.จ่าย'ยาฟาวิพิราเวียร์' ผ่าน 'ร้านขายยา'

รศ.ดร.ภญ. จิราพร กล่าวอีกว่า สำหรับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์โดยร้านขายยาก็จะดำเนินการควบคู่กันไปด้วย โดยร้านขายยาจะเป็นหน่วยบริการที่จะทำ Home isolation สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจแล้วพบผลเป็นบวกและมีอาการ ซึ่งมีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการที่จะให้ร้านขายยาสามารถกระจายยาเหล่านี้ไปที่ผู้ป่วยได้ ซึ่งก็จะพยายามเริ่มระบบไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม ร้านขายยาประเภท ข.ย.1 ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณหลักหมื่นร้าน โดยขณะนี้มีร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,000 ร้าน และกำลังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งก็จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาเข้ามาร่วมโครงการ

“เราจะได้ใช้วิชาชีพเภสัชกรรมในการให้บริการ เพื่อช่วยประเทศในการแก้ปัญหาโรคระบาด เพราะเรามีความรู้เรื่องยาเราก็สามารถให้คำแนะนำการใช้ยา-ชุดตรวจที่ถูกต้อง เหมาะสม ทำให้ระบบเดินต่อไปได้ เพราะตรวจได้เร็วก็สามารถที่จะควบคุมการกระจายของโรคได้” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า ระหว่างรอ ชุดตรวจโควิด ATK ที่ยังไม่มานั้น สปสช. พยายามที่จะประสานกับสภาเภสัชกรรม และ อย. เพื่อทำให้ระบบสามารถเดินได้ ในขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเตรียมตัว-บริหารจัดการ ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อมีชุดตรวจมาถึง ร้านขายยารวมถึงระบบต่างๆ ก็จะพร้อมและจะสามารถแยกคนที่ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ทำให้การแพร่เชื้อลดลง

“ตอนนี้ระหว่างรอชุดตรวจ ก็มีการเตรียมงานหลังบ้านให้เรียบร้อย เมื่อไหร่ที่ชุดตรวจมาก็จะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยระบบที่โปร่งใส ฉะนั้นก็จะมีระบบการขึ้นทะเบียน และระบบการป้อนข้อมูลก็จะทำให้ทราบว่าชุดตรวจใช้ไปเท่าไหร่ เรามองว่าต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใสและไม่มีข้อกังขากับประชาชนรศ.ดร.ภญ. จิราพร กล่าว