'สภาเภสัชกรรม' ออกแถลงจี้ รบ.ฉีดวัคซีน 'ผู้สูงอายุ-7โรคกลุ่มเสี่ยง' ก่อน

'สภาเภสัชกรรม' ออกแถลงจี้ รบ.ฉีดวัคซีน 'ผู้สูงอายุ-7โรคกลุ่มเสี่ยง' ก่อน

“สภาเภสัชกรรม” ออกแถลงเรียกร้องให้รัฐลดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” เพื่อเพิ่มวัคซีนที่ใช้ฉีดในประเทศ โดยเฉพาะ "ผู้สูงอายุ-7โรคกลุ่มเสี่ยง" 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เพจเฟซบุ๊กสภาเภสัชกรรม ได้โพสต์แถลงการณ์สภาเภสัชกรรม จี้รัฐใช้ยุทธศาสตร์ลดอัตราตาย และเพิ่มการจัดหาวัคซีน

ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ได้ลงนามโดยเภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เกี่ยวกับเรื่อววัคซีน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโควิดด้วยนโยบายที่ชัดเจน ใน 2 ประเด็น โดยมีรายละเอียดคือ

1.ยุทธศาตร์การลดอัตราการเสียชีวิต เพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขรับมือได้

ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 วันละประมาณ 50-60 คน หรือเดือนละประมาณ 1,500-1,800 คนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตที่มีการระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ ภาคใต้ มีจำนวนผู้ป่วยรอบริการจำนวนมาก  หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ในสองสามเดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้ และมีผลกระทบต่อระบบบริการและบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง 

 

ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตและป่วยหนักจากโควิด-19 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ในกลุ่มนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงต้องการระบบบริการที่ใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมากรองรับ ในกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 10 ในขณะที่กลุ่มอื่นมีอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1  การป้องกันอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงหากติดเชื้อของกลุ่มนี้ จะต้องได้รับวัคซีนที่มีลำดับความสำคัญเร่งด่วน

“สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายการกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนเพียง 2 ล้านคนต่อประชากรที่มีอยู่ 17.5ล้านคน เนื่องจากประเทศไทยมีวัคซีน และระบบบริการสาธารณสุขที่จำกัด จึงขอให้หยุดใช้หลายยุทธศาตร์ในเวลาเดียวกันทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรงงาน กลุ่มพื้นที่เพื่อเปิดการท่องเที่ยว โดยหวังให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานานจนทำให้อัตราเสียชีวิตสูง จนระบบบริการสาธารณสุขล่มสลาย” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว 

2. ยุทธศาตร์การจัดหาวัคซีน

ต้องใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่จัดหาโดยเร่งด่วน หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ประเทศไทยทำได้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ แต่ต้องการความกล้าหาญทางนโยบายในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับที่ นพ.มงคล ณ สงขลา กล้าหาญที่จะประกาศ CL ยาช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยการบังคับใช้ มาตรา 4 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตามมาตรา 18 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใด มาตรา 18(2) ระบุ “สัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ”

สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้ "แอสตร้าเซนเนกา" สยามไบโอไซเอนท์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้เหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้” รศ. ดร. ภญ. จิราพร กล่าว

162556202384