จาก ‘วัคซีน’ สู่ ‘ATK’ รัฐต้องเคลียร์ให้จบ

จาก ‘วัคซีน’ สู่ ‘ATK’ รัฐต้องเคลียร์ให้จบ

ประเด็นจัดหา "วัคซีน" ยังไม่ทันคลี่คลาย ประเด็นประมูล "ATK" ก็เข้ามาซ้ำเติมบาดแผลใหญ่ของรัฐบาล

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยยังคงทำนิวไฮอยู่ทุกวัน จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้ลดลง สะท้อนว่ามาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ “เอาไม่อยู่” และ “ไม่ได้ผล” เป้าหมายสำคัญของการล็อกดาวน์คือ “ลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่”

แต่เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถหยุดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้ รัฐต้องกลับมาทบทวน หาสาเหตุ แก้ปัญหา อย่าคิดเข้าข้างตัวเองว่ามาตรการได้ผล อย่ายึดตัวเลข “คนหายป่วย” ว่ามีมากกว่า “คนติดเชื้อ” โจทย์สำคัญที่รัฐต้องทำจากนี้ คือ หาแนวทางหยุดยั้งเชื้อโควิด และกดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลงให้ได้

ขณะที่กระบวนการจัดหาและกระจาย “วัคซีน” ที่ล้มเหลวผิดพลาดไม่เคยถูกไขให้กระจ่าง ปัญหาเรื่องชุดตรวจ ATK ก็ผุดเป็นปัญหาแทรกขึ้นมาอีก ชุดตรวจ ATK คืออีกหัวใจของการคุมโรคโควิด ATK ต้องมีคุณภาพสูง แม่นยำ มีความจำเพาะและมีความไวตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก หากใช้ ATK ที่ไม่แม่นยำ ย่อมต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR เสียโอกาสของผู้ป่วยในการรักษาเร็ว สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

ดังนั้น การประกาศผู้ชนะการประมูลขององค์การเภสัชกรรม ที่ได้ ATK ยี่ห้อที่ราคาถูกที่สุด แต่เป็นยี่ห้อที่มีข้อกังขาเรื่องความแม่นยำมากที่สุดจะทำให้การควบคุมโรคโควิดที่วิกฤติหนักมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกโดยใช่เหตุ 

นี่คือสิ่งที่ “ชมรมแพทย์ชนบท” ซึ่งถือว่าเป็นด่านหน้าเผชิญกับวิกฤติครั้งนี้ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอให้ “องค์การเภสัชกรรม” จัดหา ATK ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานมากกว่านี้

จนสุดท้าย ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมต้องออกมาสั่งชะลอการทำสัญญาซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดนี้ออกไป รอผลตรวจสอบคุณภาพโดยละเอียด และยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม ...นี่คือปัญหาที่เกิดมาตลอดของการแก้วิกฤติของรัฐบาลชุดนี้ มีเงื่อนงำทุกขั้นตอน พอสังคมตั้งข้อสงสัยเลยต้องหยุด เสียเวลาตรวจสอบ เสียโอกาสเดินหน้าคุมการระบาด

การแก้ปัญหาที่ลากยาวมาถึง 2 ปี ยังแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เราเปรียบการทำงานของรัฐบาลไม่ต่างกับการต่อจิ๊กซอว์ หรือกลัดกระดุมเม็ดแรก ถ้ามันผิดที่ผิดทางตั้งแต่เริ่มต้น มันก็ยากที่ทางเดินต่อไป จะกลับสู่เส้นทางที่ถูก แต่สุดท้ายแล้วแม้จุดเริ่มต้นจะผิดฝาผิดตัว หากระหว่างทางรัฐบาลแก้ปัญหา ทำมันให้ดีที่สุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ฟังข้อเสนอแนะภาคเอกชนบ้าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมยกเข่งก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเป็นเกราะกำบังตัวเองจนเกิดเสียงสะท้อนทางลบมากมาย

รัฐไม่ควรปล่อยให้เกิดปมปัญหาที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตลอดเวลา วันนี้ ธุรกิจ ผู้ประกอบการ ประชาชน กำลังจะหมดลมหายใจ นักลงทุนกำลังโบกมือลา เรากำลังเป็นประเทศที่ไร้เสน่ห์ และเป็น “อดีตเสือ” (ป่วย) แห่งเอเชียที่ถูกลืม

เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่หายนะ แค่เพียงชั่วพริบตาเดียว หากมาตรการแก้วิกฤติโควิดของรัฐในทุกขั้นตอนยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือและมีช่องโหว่ของการทุจริต