'CPF'สร้าง 'รพ.สนาม'ป้องกัน ชู"บับเบิลแอนด์ซีล"โรงงานรักษาครบวงจร

'CPF'สร้าง 'รพ.สนาม'ป้องกัน ชู"บับเบิลแอนด์ซีล"โรงงานรักษาครบวงจร

การรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อ'โควิด-19'ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดที่ช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เตียงตึงกันเกือบทุกแห่ง 'CPF' จึงสร้าง 'รพ.สนาม'ชู 'บับเบิลแอนด์ซีล'โรงงานรักษาครบวงจร

หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเตียงตึง คือให้แต่ละจังหวัดจัดตั้ง รพ.สนาม และใช้มาตรการ บับเบิลแอนด์ซีล โรงงานและแคมป์ และให้มีการตรวจเชิงรุกในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน อาทิ ในโรงงานและสถานประกอบการต่าง ๆควรพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยภายในสถานพยาบาลของโรงงานเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลทั่วไป 

  • 'รพ.สนาม'แก้ปัญหาเตียงตึง

โดยผลักดันมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ในยามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 กำลังทวีความรุนแรง สถานพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาผู้ป่วยล้น จนเตียงในโรงพยาบาลทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ รับผู้ป่วยเต็มหมด ซึ่งภาครัฐก็ได้เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และได้พยายามขยายงานในการให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น

ล่าสุด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ ได้ดำเนินการตามมาตรการ บับเบิลแอนด์ซีลโรงงานด้วยการสร้าง โรงพยาบาลสนาม ซีพีเอฟหนองจอก รองรับผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวและสีเหลืองด้วยความห่วงใยในบุคลากรของบริษัท และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันสังคมลดการแพร่กระจายเชื้อ ตลอดจนแบ่งเบาภาระหน่วยงานภาครัฐ

  • 'CPF' ตั้ง 'รพ.สนาม' กำหนดมาตรการป้องกันโรคBubble&Seal

"ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ" ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ (CPF)กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการดูแลสุขภาพพนักงานเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการวางมาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้น การจัดทำระบบ Bubble&Seal  หรือการจัดหาวัคซีนเพื่อเพื่อนพนักงาน และสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับ

ที่นี่เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างขึ้นตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะแพทย์จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ควบคุมดูแลทุกขั้นตอน สามารถรองรับผู้ติดเชื้อจากโรงงานได้ถึง 250 เตียง เป็นผู้ป่วยสีเขียว ขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมเฟสสอง รองรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องการออกซิเจนในอาคารที่ 2 รวมแล้ว รพ.แห่งนี้จะสามารถรองรับได้ทั้งหมด 400 เตียงประสิทธิ์ กล่าว

ก่อนหน้าได้สร้างโรงพยาบาลสนามแห่งแรกที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 400 เตียง ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลสนามที่รองรับประชาชนผู้ติดเชื้อถึง 300 เตียง โดยซีพีเอฟยังจัดหาอาหาร 3 มื้อ น้ำดื่ม และของใช้ส่วนตัวแก่ผู้ป่วยทุกคน ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ เป็นการแบ่งเบาภาระหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดสระบุรีได้อีกส่วนหนึ่ง

  • เดินหน้าขยายเฟส 2 สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องการออกซิเจน

“ในยามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังทวีความรุนแรง บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยคนงานโนโรงงานได้เน้นย้ำให้พนักงานยกการ์ดสูง การที่บุคลากรในบริษัทดูแลตนเองให้ปลอดภัย ก็จะทำให้่บุคคลรอบข้าง ครอบครัว ปลอดภัย เป็นการดูแลสังคมด้วยเช่นกัน”ประสิทธิ์ กล่าว

"นพ.วีระ อิงคภาสกร"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายคุณภาพ โรงพยาบาลในเครือบางปะกอก กล่าวว่า CPF มีการวางระบบการป้องกันตั้งแต่ที่โรงงาน เมื่อพบผู้ป่วยก็นำส่งเข้ามายังโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอดเวลา ตามมาตรการสาธารณสุข

นอกจากนี้ยังมีนโยบายขยายเฟส 2 สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องการออกซิเจน หากผู้ป่วยมีอาการถึงขั้นสีแดงก็จะส่งตัวเข้า รพ.บางปะกอก 9 ไปดูแลต่อ นับเป็นการควบคุมการติดเชื้ออย่างครบวงจร ตั้งแต่ป้องกันและการรักษาทุกระดับ

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ร่วมต้านภัยโควิด -19 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนแล้วหลายล้านแพ็ค น้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหลายล้านขวด ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรส แก่โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม กลุ่มเปราะบาง ศูนย์ฉีดวัคซีน จุดตรวจโควิดเชิงรุก และหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ตามแนวทาง “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19”ตามนโยบายของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ทอท.เปิดโรงพยาบาลสนามดอนเมือง 1.8 พันเตียง 12 ส.ค.นี้

                   13 สิ่ง 'ผู้ป่วยโควิด-19' ต้องปฎิบัติเมื่อเข้าสู่ 'รพ.สนาม' 

                   กทม. เดินหน้าขยายเตียง 'รพ.สนาม' และ 'Hospitel' เพิ่ม

  • แนวทางจัดตั้ง 'รพ.สนาม' รองรับผู้ป่วยโควิด-19

สำหรับโรงพยาบาลสนาม ตามนิยามกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หมายถึง สถานที่ที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลซึ่งเกินศักยภาพการจัดระบบบริการในการรองรับผู้ป่วย ทั้งนี้การจัดตั้งจะตั้งนอกสถานพยาบาล ขึ้นกับการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หรือ หอประชุมขนาดใหญ่ เป็นต้น

โดยการคัดเลือกสถานที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ความต้องการของชุมชน และทรัพยากรด้าน สาธารณสุขที่มีอยู่ เพื่อให้การดูแลรักษา ผู้ป่วยโควิด 19 ในสภาวการณ์ที่มีการระบาดได้รับการดูแลรักษาอย่าง ปลอดภัย

ผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับ มอบหมาย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด และ หน่วยงานอื่นๆ รวมถึงมีการกำหนดคณะทำงานที่ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องและ ภาคเอกชน

ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วย รายงานความรุนแรงของโรค โควิด 19 และการระบาดในประเทศอื่นๆ หรือจังหวัดอื่นๆ อัตราการมารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน หรือโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น อย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น อัตราการรับเข้าไว้รักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย PUI เพิ่มสูงขึ้น ความสามารถของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วยโควิด 19 อัตราส่วนของผู้ป่วยที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ไม่มีคนดูแลที่บ้าน และไม่ สามารถดูแลตนเองได้

แนวทางการรับผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 ในโรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย หรือ ดีขึ้นหลังจากการรับรักษาไว้ใน โรงพยาบาลและมีอาการคงที่ เข้ารับบริการตามระบบการดูแล และเฝ้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลสนาม