ธปท.เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจเดือน ก.ค.ลดลงเกือบทุกกลุ่มจากโควิด-19

ธปท.เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจเดือน ก.ค.ลดลงเกือบทุกกลุ่มจากโควิด-19

ธปท.รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.ค.เหลือ 41.4 จาก 46.5 ในเดือนก่อน พบธุรกิจก่อสร้าง-อสังหาฯ ความเชื่อมั่นปรับลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือน ก.ค.2564 ว่า ดัชนีฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.4 จาก 46.5 ในเดือนก่อน ตามการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบและเกือบทุกธุรกิจ นำโดยกลุ่มผลิตเหล็กที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ในระดับต่ำ จากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงตามราคาเหล็กที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการปรับลดลงมาก ขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ปรับลดลงมากและอยู่ในระดับต่ำ จากองค์ประกอบด้านต้นทุน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ อาทิ เหล็ก อลูมิเนียมและพลาสติกยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับภาคที่มิใช่การผลิต ความเชื่อมั่นของธุรกิจก่อสร้างและอสังหาฯ ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างประกอบกับความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยึดเยื้อและรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอคำสั่งซื้อ

ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับลดลงจากระดับ 49.6 มาอยู่ที่ 47.7 จากความเชื่อมั่นของธุรกิจในภาคที่มีใช่การผลิตที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มขนส่งผู้โดยสารที่ดัชนีฯ ปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้ง หลังจากที่ยืนเหนือ 50 ได้ในเดือนก่อน

ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคการผลิตปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ตามความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตเหล็กที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ โดยเป็นการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ นำโดยคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอลงตามราคาเหล็กที่อยู่ในระดับสูง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอีกครั้ง และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าธุรกิจที่เผชิญกับภาวะสภาพคล่องตึงตัวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาปัจจัยการผลิตหลายรายการที่ยังอยู่ในระดับสูง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำกลับมาเป็นข้อจำกัดหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในเดือนนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตสูง จากทั้งราคาเหล็กในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง และต้นทุนด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นตามมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่เริ่มลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7