‘สำนักงบฯ’ ชงแผนพยุงเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประจำ - ลงทุน 'ไตรมาสสุดท้าย'

‘สำนักงบฯ’ ชงแผนพยุงเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประจำ - ลงทุน 'ไตรมาสสุดท้าย'

ท่ามกลางผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงอยู่ในขณะนี้ "เครื่องยนต์" ที่ยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศก็คือ "การใช้จ่ายของภาครัฐ" (government spending) จากเงินงบประมาณประจำปีทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายเพื่อการลงทุน

"สำนักงบประมาณ" ได้มีการรายงานให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2564 จากวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วประมาณ 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.49%  มีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณแล้วจำนวน 2.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 75.03%

ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณ 2564 ที่ไม่รวมงบกลางฯ วงเงินงบประมาณ 2.67 ล้านล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 71.81%มีการก่อหนี้แล้วจำนวน 2.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.61% สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 77% ของการเบิกจ่ายและก่อหนี้ในไตรมาสที่ 3 อยู่ 1.61%

ในส่วนรายจ่ายประจำมีการเบิกจ่ายแล้ว 1.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.34% มีการก่อหนี้แล้ว 1.65 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.27% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 80% 

และงบประมาณรายจ่ายการลงทุนมีการเบิกจ่ายแล้ว 2.85 แสนล้านบาท คิดเป็น 48.66% มีการก่อหนี้แล้วจำนวน 4.47 แสนล้านบาท คิดเป็น 76.25%สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่กำหนดไว้ในไตรมาสที่ 3 65% ถึง 11.24% 

162791081119

พร้อมทำข้อเสนอที่ชี้แจงต่อครม.ว่าเพื่อให้การเบิกจ่ายและจัดสรรงบประมาณในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้( ก.ค. - ก.ย.) มีประสิทธิภาพสำนักงบประมาณจัดทำข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 

1.หน่วยรับงบประมาณควรเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และการบริหารงบประมาณที่ได้รับ การจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณากำหนดทิศทางหรือแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป (New Normal) ในส่วนช่องงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ควรมีการวางแผนอย่างเหมาะสม เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยรวม

2.หน่วยงานในพื้นที่ส่วนใหญ่พบข้อปัญหาในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณตรงและเป็นหน่วยรับงบประมาณใหม่ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 301หน่วยงานยังขาดความรู้ความเข้าใจ เป็นผลให้การดำเนินการก่อหนี้ผูกพันไม่เป็นไปตามแผนหรือเป้าหมายที่กำหนด จึงเห็นสมควรที่กระทรวงการคลังจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

3.สำหรับรายจ่ายลงทุน หน่วยรับงบประมาณควรเร่งรัดการดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งรายการปีเดียวและรายการผูกพันใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหรือควบคุมกิจการของหน่วยรับงบประมาณหรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแล เร่งรัด ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายและหรือแผนที่กำหนดไว้

ซึ่งจะถือเป็นส่วนสำคัญ ในการกระตุ้นให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของหน่วยรับงบประมาณ ร่วมทั้งรายงานผลการติดตามและประเมินผลอย่างเคร่งครัดด้วย