'นักวิชาการ' เตือน หาก 'ล็อกดาวน์' คุมไม่อยู่ ยอดโควิดส่อแตะวันละ 4 หมื่นราย

'นักวิชาการ' เตือน หาก 'ล็อกดาวน์' คุมไม่อยู่ ยอดโควิดส่อแตะวันละ 4 หมื่นราย

นักวิชาการ ม.มหิดล เผยแบบจำลองคณิตศาสตร์ คาดหาก "ล็อกดาวน์" คุมไม่อยู่ ยอดโควิดส่อแตะวันละ 4 หมื่นราย ดันยอดสะสมในประเทศทะลุ 1 ล้านรายภายในเดือนนี้

จากกรณีมติขยายล็อกดาวน์ เบื้องต้นอีก 14 วัน หลังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

สำหรับจังหวัดเหล่านี้จะมีการประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรกหรือขยายล็อกดาวน์ออกไป เบื้องต้น 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.นี้ ก่อนจะประเมินสถานการณ์กำหนดมาตรการอีกครั้งวันที่ 18 ส.ค. และอาจจะขยายล็อกดาวน์ต่อเนื่องสูงสุด 1 เดือน พร้อมกับอนุญาตร้านอาหารในห้าง คอมมิวนิตี้มอลล์ สามารถเปิดจำหน่ายได้ เฉพาะบริการแบบเดลิเวอรี่ หรือ ซื้อกลับได้ 

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 พร้อมกับหารือส่วนที่ยังต้องดำเนินการแก้ไข มีการรายงานสถานการณ์ รวมถึงการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงล็อกดาวน์ พบว่า ผู้ติดเชื้อในกทม.ลดลง แต่ต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงการระบาดในประเทศ ณ ขณะนี้ที่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตา เพราะขนาดสหรัฐที่กำลังเผชิญการระบาดอยู่ วัคซีนที่มีก็ยังควบคุมไม่อยู่

จากมาตรการคุมเข้มล่าสุดของ ศบค. ทำให้เกิดกระแสวิตกกังวลและคำถามในสังคมว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วเพียงใด

รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ นักวิชาการจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลคาดการณ์ตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า จากแนวโน้มตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 รายวัน คาดว่าวันที่ 2 ส.ค. 64 จะมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ระหว่าง 18,379-18,927 ราย และหากตัวเลขที่ ศบค.แถลงเป็นไปตามแนวโน้มนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศไทย อาจจะทะลุ 1 ล้านรายภายในวันที่ 19 ส.ค.นี้ (บวกลบ 2 วัน) และจะแตะ 4 ล้านรายภายในวันที่ 31 ต.ค. 64

ในกราฟรูปบน ผลคาดการณ์ด้วยค่าจากการตรวจวัดตั้งแต่ 12 ม.ค. 63 ถึง 1 ส.ค. 64 (ที่มีค่าการตรวจวัดล่าสุด) พบว่า อัตราการติดเชื้อรายวันรอบที่ 4 อยู่ในช่วง 18,307-62,358 ราย/วัน ขณะที่อัตราการติดเชื้อค่าล่าง อยู่ในช่วง 18,307-55,003 ราย/วัน

162782935376

ในกราฟรูปล่างจะเห็นว่า การติดเชื้อสะสมรายวันรอบที่ 4 (ในกรอบสีเขียว) ประมาณ 1 ล้านราย ในวันที่ 19 ส.ค. 64 และ 4 ล้านราย ในวันที่ 31 ต.ค. 64

ทั้งนี้ หากเปลี่ยนรูปแบบอัตราการติดเชื้อให้สอดคล้องกับผลคาดการณ์ค่าล่าง การติดเชื้อสะสมจะประมาณ 3.4 ล้านราย ในวันที่ 31 ต.ค. 64

อย่างไรก็ตาม แบบคำนวณดังกล่าวระบุหมายเหตุว่า 1. ข้อความสีแดงคือผลคาดการณ์หลัง update แบบจําลอง 2. ดูผลคาดการณ์ของวันที่ 2 ส.ค. 64 ในกล่องข้อความสีฟ้า 3. การระบาตรอบที่ 4 เริ่ม 28 มิ.ย. 64 แบบ Couple sinewave นั่นคือ สายพันธุ์อินเดีย (Delta) เด่น (มากกว่า 50%) ขณะที่การระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) จากรอบที่ 3 ยังดําเนินต่อไป แต่ในสัดส่วนที่ลดลง

ขณะที่อัตราการติดเชื้อในวงจรการระบาดระหว่างวันที่ 2-8 ส.ค. 64 (รอบสัปดาห์นี้) มีแนวโน้มอยู่ในช่วง 1.8 หมื่นถึง 2 หมื่นรายต่อวัน และอาจทะลุถึง 2.1 หมื่นรายในช่วงปลายวงจรการระบาด

นอกจากนี้ รศ.ดร.นวลจันทร์ ได้เผยผลการคาดการณ์แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย ด้วยแบบจําลอง SIQR (5 เม.ย. ถึง 31 ธ.ค. 64) โดยปรับผลคาดการณ์ให้เหมาะสมด้วยค่าการตรวจวัด ช่วง 5 เม.ย. ถึง 1 ส.ค. 64 (ที่มีค่าการตรวจวัดล่าสุด)

162782935325

จากแบบจำลองจะเห็นว่า ในกรณีมาตรการสกัดโควิดเข้มงวดของรัฐบาล "ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้" มีแนวโน้ม 75% ที่จะทำให้ยอดโควิดรายวันพุ่งถึงระดับสูงสุด (พีค) ที่กว่า 44,000 รายระหว่างวันที่ 16-17 ส.ค. (ตามตาราง)

ขณะที่ในกรณีมาตรการต่าง ๆ สามารถ "ควบคุมสถานการณ์ได้" ตัวเลขยอดติดเชื้อสูงสุดจะต่ำกว่าคาดการณ์และเกิดจุดพีคช้าลง (กราฟเบ้ซ้าย หลัง ส.ค. 64)

ทั้งนี้ แบบจำลองของ รศ.ดร.นวลจันทร์ ระบุด้วยว่า อีกปัจจัยสำคัญในการชะลอยอดติดเชื้อในประเทศคือ การเร่งฉีดวัคซีน หากสามารถเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 40-50% ของประชากร จะทําให้จํานวนประชากรที่มีโอกาสติดเชื้อลดลง และทําให้อัตราการติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสําคัญ