ลงทุนอย่างไร เมื่อจีนลงดาบ จัดระเบียบหุ้น

ลงทุนอย่างไร เมื่อจีนลงดาบ จัดระเบียบหุ้น

เมื่อการลงทุนในจีน แม้จะมีความผันผวนจากการควบคุมของรัฐ แต่หากมองให้ออกว่าการเข้าควบคุมดูแลนั้นไม่ใช่เป็นการลงดาบเพื่อให้กลุ่มธุรกิจล่มสลาย แต่เป็นการจัดระเบียบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นทางการจีนออกมาตรการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจีนอย่างต่อเนื่อง และในแต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก ทำให้หุ้นจีนยังคงเป็นตลาดหุ้นที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง และเกิดเป็นคำถามว่าหุ้นจีนที่แม้จะมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น แต่อำนาจการควบคุมยังอยู่ในมือรัฐบาลแทบจะเบ็ดเสร็จ ยังมีความน่าสนใจอยู่หรือไม่ และจะลงทุนจีนอย่างไรให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีท่ามกลางความผันผวนนี้

การออกมาตรการที่เข้มงวดเด็ดขาดของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทุกครั้งที่มีมาตรการลักษณะนี้ออกมาก็สั่นคลอนตลาดหุ้นจีนได้อย่างมาก เช่น การสั่งระงับการออก IPO ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง ANT Group ในเครือ Alibaba ก่อนจะเริ่ม IPO เพียง 1 วัน เมื่อปลายปี 2020 และยังคงเห็นมาตรการควบคุมดูแลจากทางการจีนต่อหุ้นกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนได้ออกคำสั่งให้โรงเรียนกวดวิชาที่มีเนื้อหาการเรียนการสอนเหมือนหลักสูตรภาคบังคับต้องดำเนินธุรกิจแบบไม่แสวงหากำไร และห้ามเข้าตลาดหุ้น ส่งผลทำให้หุ้นกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาของจีนที่มีมูลค่ารวมกันถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร่วงลงทันที 

นอกจากนี้ ทางการจีนยังเข้าควบคุมดูแลบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น Meituan ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่ของจีนถูกตรวจสอบในด้านการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงาน Tencent เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงกว่า 80% ในแพลตฟอร์มออนไลน์จีน ถูกสั่งให้ยกเลิกการผูกขาดลิขสิทธิ์เพลง และ KE Holdings แพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ถูกสอบสวนกรณีการผูกขาดที่กำหนดให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องลงข้อมูลกับแพลตฟอร์มของตนเองเท่านั้นและยังตรวจสอบกิจกรรมทางการเงินที่เข้าข่ายผิดกฎหมายทั้งหมด

162763763320

แน่นอนว่าเมื่อทางการจีนลงดาบกับบริษัทเหล่านี้ ราคาหุ้นของกลุ่มปรับร่วงลงทันทีและกดดันตลาดหุ้นจีนโดยรวมด้วย แต่หากพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของทางการจีนจะเห็นว่าจีนกำลังพยายามปรับให้ตัวเองสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น กรณีโรงเรียนกวดวิชา ที่ทางการจีนต้องการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมและเป็นการลดภาระของผู้ปกครองเพื่อสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวมีบุตรมากขึ้นตามแผนระยะยาวของจีนที่ต้องการสร้างประชากรวัยทำงานให้มากขึ้น หรือกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านต่างๆ ที่ถูกคุมเข้ม ทั้งนี้ เพื่อลดการผูกขาด เพื่อให้บริษัทขนาดกลางและเล็กสามารถมีอำนาจต่อรองและแข่งขันได้บ้าง และเพื่อสร้างเสถียรภาพในกลุ่มอุตสาหกรรม

นอกจากภาพตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรงหลังการลงดาบของทางการจีนแล้ว ภาพการดีดตัวของหุ้นจีนภายหลังการเข้ามาพยุงตลาดจากทางการจีนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน เรามักเห็นการควบคุมอย่างเข้มงวดและการเข้าพยุงตลาดหุ้นจากจีนเป็นระยะ และล่าสุดก็เช่นกัน หลังจากตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงจากปัจจัยกดดันจากภาครัฐ จีนก็เริ่มมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบอีก 3 หมื่นล้านหยวนผ่านสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์นโยบายการเงินของจีนนับจากนี้มีแนวโน้มจะผ่อนคลายมากขึ้น และอาจมีการเข้าซื้อหุ้นจีนโดยภาครัฐดังที่เคยทำเมื่อช่วงที่เกิดฟองสบู่แตก ปี 2015 และแน่นอนประเด็นเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นจีนดีดตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

ช่วงที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแรงจากประเด็นการควบคุมจากภาครัฐอาจถือได้ว่าเป็นโอกาสที่สำคัญในการลงทุน แต่ควรเลือกลงทุนในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจำกัดในกรณีที่ทางการจีนใช้มาตรการเข้มงวดในการจัดระเบียบ ซึ่งหากพิจารณาในจุดมุ่งหมายของทางการจีนแล้วจะพบว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะรอดหรือได้รับผลกระทบอย่างจำกัด ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ทางการจีนให้ความสำคัญมากและจัดเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในระยะยาว ในขณะเดียวกัน กลุ่มเทคโนโลยีก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ แม้จะได้รับผลกระทบในการจัดระเบียบ แต่ด้วยสัดส่วน Digital Economy ที่คิดเป็น 40% ของ GDP และในมุมของตลาดหุ้น กลุ่มเทคโนโลยีมีสัดส่วนกว่า 40% ของ MSCI China Index เช่นกัน นั่นแปลว่าจีนจะต้องพยายามพยุงกลุ่มนี้ด้วย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันมาตรการหลักที่ทางการมักใช้เพื่อควบคุมกลุ่ม Tech มักเป็นประเด็นเรื่องการผูกขาดและความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดเสถียรภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว นอกจากนี้ ทั้งกลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยี นับเป็น Megatrends สำคัญที่จะนำพาจีนขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างที่จีนต้องการ คาดว่าจีนจะต้องพยายามสนับสนุนทั้ง 2 กลุ่มนี้และพยายามสร้างเสถียรภาพให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น การลงทุนในจีน แม้จะมีความผันผวนจากการควบคุมของภาครัฐ แต่หากมองให้ออกว่าการเข้าควบคุมดูแลนั้นไม่ใช่เป็นการลงดาบเพื่อให้กลุ่มธุรกิจเหล่านั้นล่มสลาย แต่เป็นการจัดระเบียบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เราจะสามารถใช้โอกาสนี้ทยอยเข้าลงทุนในกลุ่มที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นท่ามกลางการลงดาบของทางการ เช่น กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ และเทคโนโลยีของจีน

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager ธนาคารทิสโก้