'เอสซีจี' รับโควิดกระทบธุรกิจซีเมนต์ ลุยลงทุน 8-9 หมื่นล้าน รุกรายได้ต่างประเทศ

'เอสซีจี' รับโควิดกระทบธุรกิจซีเมนต์ ลุยลงทุน 8-9 หมื่นล้าน รุกรายได้ต่างประเทศ

“เอสซีจี” โชว์ผลประกอบการไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2564 ยังโตต่อเนื่อง รับโควิด-19 ฉุดซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง กางแผนปีนี้ลงทุน 8-9 หมื่นล้านบาท เจาะตลาดต่างประเทศ เพิ่มสัดส่วนรายได้แตะ 50% ภายใน 3-4 ปี

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2564 มีรายได้จากการขาย 133,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก และเพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสก่อน

จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม ทำให้ปริมาณขายยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเรื่องการขนส่ง โดยมีกำไรสำหรับงวด 17,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 255,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 32,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

อีกทั้งครึ่งปีแรกของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 86,861 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของรายได้จากการขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) และ Service Solution เช่น โซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Solution) โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart and Functional Solutions) คิดเป็น 15% และ 5% ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2564 ทั้งสิ้น 112,272 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 812,051 ล้านบาท โดย 39% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-10 กระทบต่อธุรกิจ เช่น ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เนื่องจากไซด์งานก่อสร้างต้องปิดตัว และคาดว่าหากจะมีคำสั่งให้กลับมาเปิดได้ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เนื่องจากอาจจะมีการชะลอการตัดสินใจซื้อ โดยภาพรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 46,416 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้า

“เป้าหมายครึ่งปีหลัง เป้าหมายครึ่งปีหลัง ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ซีเมนต์ ก่อสร้าง คงกระทบต่อเนื่อง ไซด์ก่อสร้างต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว คิดว่าความไม่แน่นอนมีสูง ส่วนอื่นๆ คิดว่าดีมานด์ความต้องการจะเริ่มฟื้นตัว อย่างเคมีภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ แม้จะมีมาตรการห้ามเดินทางแต่การอุปโภคบริโภคยังมีอยู่ ยังมีการส่งของโลจิสติกส์ ผลกระทบอาจไม่มาก แต่หากเกิดกรณีติดเชื้อของเราเอง หรือคู้ค่า ก็จะมีผลกระทบกับกำลังการผลิตลดลง ตอนนี้จึงไม่รู้จะประมาณการณ์สถานการณ์อย่างไร ยังรอดูการแพร่ระบาดที่มีต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ดี เอสซีจีมีแผนขยาธุรกิจลงทุนในต่างประเทศ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (หรือ “เอสซีจี เคมิคอลส์”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมดเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (หรือ “CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นจำนวนเงิน 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 14,260 ล้านบาท) เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน CAP ที่ 30.57%

 โดยจะนำไปลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นว่าการลงทุนใน CAP เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจปิโตรเคมีไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดสินค้าปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีอัตราการเติบโตสูง

“รายได้ในต่างประเทศปัจจุบัน 44% เป็นรายได้ในอาเซียน และการส่งออก คาดว่า 3-4 ปีจะเพิ่มเป็น  50% เพราะอีก 2 ปี ปิโตรเคมีในเวียดนามจะเกิดขึ้น จะข้ามาช่วยได้ และเรื่องการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่เราขยายในภูมิภาค เมื่อเริ่มมียอดขายก็จะเข้ามาเสริมตรงนี้ และซีเมนต์วัสดุก่อสร้าง อาจมีการส่งออกกันได้ หลังโควิดคลลี่คลาย ตลาดตรงนี้น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ หากมีการออนไลน์ไปต่างประเทศได้ อัตราส่วนต่างประเทศก็จะโตได้เร็ว”

ด้านนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี เผยว่า การลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้เอสซีจีมีหุ้น CAP อยู่ 30% มีการเติบโตมาตลอด มีแผนขยายกำลังการผลิตโดยที่เราก็สนับสนุน เงินทั้งหมด 434 ล้านดอลลาร์ ต้องทยอยจ่ายในปีนี้ 321 ล้านดอลลาร์ ถ้าสรุปได้ก็จะเพิ่มอีก 107 ล้านดอลลาร์ โดยเรื่องกระแสเงินสดไม่มีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันเอสซีจีมีเงินสดในมืออยู่ 9 หมื่นกว่าล้าน และมองว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสนับสนุนบริษัทในอนาคต เพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดที่กำลังโตค่อนข้างมาก

ส่วนการลงทุนในเวียดนาม ปัจจุบันโครงการคืบหน้า 83% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2023 ถึงแม้ว่าโควิดในเวียดนามตอนใต้อาจดูรุนแรง แต่เกาะของพื้นที่โครงการเราทำ “Bubble & Seal” การก่อสร้างจึงคืบหน้าตามแผน

“ปีนี้ประมาณการณ์เงินลงทุนอยู่ที่ 8-9 หมื่นล้านบาท มาจากการลงทุนในเวียดนามที่ยังไม่เสร็จ และเรายังมีแผนขยายธุรกิจอื่น เช่น แพ็คเกจจิ้ง เคมิคอลส์ ยังอยู่ในแผน จังหวะนี้เรามองว่าเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง”