รัฐ-เอกชน ระดมสมองฟื้นท่องเที่ยว  ปรับ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ลุยใช้พื้นที่อื่น

รัฐ-เอกชน ระดมสมองฟื้นท่องเที่ยว   ปรับ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ลุยใช้พื้นที่อื่น

ท่องเที่ยวเป็นอีก “เครื่องยนต์” เคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่วิกฤติโควิด ทุบอุตสาหกรรมจนน่วม การฟื้นตัวยังยาก ตราบที่โรคระบาดยังไม่คลี่คลาย แต่ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโมเดลความหวังลองเปิดรับนักท่องเที่ยว ก่อนเปิดประเทศ

เนชั่น ทีวี ช่อง 22 จัดฟอรั่มออนไลน์ หยิบประเด็น ไทยพร้อม...เปิดประเทศ ฟื้นท่องเที่ยว และพร้อมอย่างไร ให้ท่องเที่ยวไทยรอด

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉายภาพโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ช่วง 28 วัน มีการเก็บข้อมูลรอบด้านทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 12,000 คน จากตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยแล้วกว่า 34,000 ราย สะท้อนว่าภูเก็ตช่วยกอบกู้การท่องเที่ยวได้เกือบกึ่งหนึ่งของภาพรวม แม้ว่าในพื้นที่จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 บ้าง แต่สถานการณ์ด้านสาธารณสุข ที่ยังมีเตียงว่างราว 70% และการท่องเที่ยวทุกภาคส่วนพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับตลาดถึงสถานการณ์เท็จจริงอย่างใกล้ชิด

ในอดีตไทยดื่มด่ำตัวเลขนักท่องเที่ยวร่วม 40 ล้านคน/ปี แต่โลกวิถีปกติใหม่ ต้องปรับ เพราะพฤติกรรมนักเดินทางเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งการจัด จองทริป ไม่ได้วางแผนยาวๆ แต่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ เนื่องจากมีตัวแปร ทั้งนโยบายรัฐ การเตือน แจ้งเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ จุดหมายปลายทาง โรงแรมที่พัก มีผู้คนได้รับวัคซีนมากน้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ การลุยต่อฟื้นการท่องเที่ยวระยะสั้น ต้องโฟกัสการแพร่ระบาด สร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ ลดการตื่นตระหนกให้นักท่องเที่ยว ด้าน ททท.มุ่งทำตลาดเชิงรุกผ่านสำนักงาน 29 ประเทศ ชูการท่องเที่ยวเป็นเกาะ มีการบริหารจัดการไวรัส การติดเชื้อต่ำ มีการขจัดปัญหา(Pain point)ที่เคยสร้างผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว

ส่วนระยะยาวต้องให้น้ำหนัก 4D ได้แก่ Demand ฟังความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง การจองล่วงหน้าไม่กี่วัน การเช็คอินที่เร็วขึ้น เพราะต้องตรวจหาเชื้อไวรัส Data ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ละประเทศมีเงื่อนไขการเดินทาง กักตัวนักเดินทางชาติตนเองอย่างไรต้องรู้ เพื่อทำตลาดได้แม่นยำ Digital เมื่อดิจิทัลมีอิทธิพล นักท่องเที่ยวลดใช้เงินสด และ Domestic การพึ่งพานักเดินทางเที่ยวในประเทศ กุญแจสำคัญฟื้นธุรกิจ เช่น จีน ปัจจุบันสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศมากเท่ากับปี 2562 และพฤติกรรมการเที่ยวนานขึ้น ไปมาเก๊า 5 วัน จากเดิมพัก 1-2 วันเท่านั้น

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เศรษฐกิจภูเก็ตพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 95% จึงต้องมีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เกิดขึ้น ซึ่งตลอด 29 วัน ทำให้เห็นว่ายังมีหยดน้ำหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรม

ส่วนระยะยาวการฟื้นเศรษฐกิจภูเก็ต ต้องไม่ยึดติดกับท่องเที่ยวเท่านั้น ควรสร้างเครื่องยนต์ใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การศึกษา สมาร์ทซิตี้ฯ โดยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)พิจารณาแล้ว แต่ความท้าทาย ยังเป็นเรื่อง งบประมาณ ที่ต้องนำมาดูแล 3 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อม

ก่อนมองระยะยาว ต้องเอาตัวรอดปัจจุบันก่อน หากติดหล่มการจัดการโรคระบาด อนาคตคงเป็นแค่ฝัน

ธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิดที่ยาวนานเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด และกระทบธุรกิจอย่างมาก แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น การปรับตัวให้รอดระยะสั้น บริษัทได้โยกการบินไปอยู่ที่อู่ตะเภา ปิดบริการที่ดอนเมือง และมีการปรับเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเมื่อประกาศบิน จะต้องทำให้ได้ตามที่ให้คำมั่นไว้

ระยะยาว การฟื้นธุรกิจจะมุ่งทำตลาดกับแฟนพันธุ์แท้นกแอร์มากขึ้น โดยทุก 100 คนที่บินเป็นฐานแฟน 25-26 คน และทุก 100 บาทที่ใช้จ่าย มาจากแฟนตัวจริงกว่า 30 บาท บริษัทจึงมุ่งมั่นยกระดับบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ถือเป็นจุดเริ่มต้นเสมือนจรวดแห่งความหวังที่รองรับนักท่องเที่ยว ตลาดเดินทางที่จะกลับมาในอนาคต แต่การจะนำโมเดลนี้ไปใช้กับพื้นที่อื่นต้องปรับให้เข้ากับบริบทในแต่ละพื้นที่ อย่าลอกเลียนแบบ โดยจะต้องมีการพูดคุยกับภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเข้าใจแนวทางและความเสี่ยงที่จะเกิด นอกจากนี้ต้องมีการสนับสนุนเรื่องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่เช่นเดียวกับภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นสมุย กระบี่ หัวหิน พัทยา หรือเชียงใหม่

และควรกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการเปิดรับที่ชัดเจน และสิ่งสำคัญคือการแก้ระบบ กฎระเบียบ กติกาที่เป็นปัญหาคอขวดในการทำธุรกิจหรือบริการแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งอาจไม่เฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการยกเลิกกติกาที่เป็นภาระ เช่น ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงมาตรการทางด้านการเงินที่ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเดินต่อไปได้

พัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางการทำเชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์ แตกต่างจากภูเก็ต  เป็น กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ” เริ่มจากแซนด์บ็อกซ์กอล์ฟเป็นมินิบ็อกซ์ หรือจะเรียกว่า Seal Route ลงสนามบิน เข้าที่พักในสนามกอล์ฟและมีบริการต่างๆ หากไปเที่ยวข้างนอกก็ซีลเส้นทางไม่ไปเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ 4 อำเภอนำร่อง คือ .เมือง แม่ริม แม่แตง และ ดอยเต่า ผ่านบริษัททัวร์เท่านั้น และจะควบคุมการเดินทาง-การพักอาศัยแบบ Bubble And Seal ส่วนที่พักหรือสถานประกอบการที่นักท่องเที่ยวจะเข้าไปใช้บริการจะต้องผ่าน การรับรองมาตรฐานระดับ SHA Plus+

ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โควิด-19 ไม่ใช่วิกฤติครั้งแรก ที่ผ่านมามีทั้ง วิกฤติเศรษฐกิจ เรื่องของการปรับตัวตามแพลตฟอร์มของนักท่องเที่ยวจีน วิกฤติสิ่งแวดล้อม PM2.5 สูญเสียรายได้เดือนละกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

แต่ทำให้เรียนรู้ มีความเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ดังนั้นจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่นำทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มาประยุกต์ รวมทั้งความโดดเด่นด้านอาหาร ชา กาแฟ สมุนไพร ท่องเที่ยวเชิงกีฬา และการทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่

ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ปรับตัวด้วยทำหมู่บ้านเพื่อสุขภาพ มายโอโซนเขาใหญ่ ให้เป็น “เมืองกัญชาเพื่อสุขภาพครบวงจร” เป็นศูนย์สุขภาพเวชศาสตร์กัญชาระดับโลก พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงมีแพลทฟอร์มด้านสุขภาพที่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก จะเปิดตัวในเดือนก..นี้ ร่วมกับทางดีป้า 

กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป ผู้บริหาร ตรีสรา รีสอร์ต ภูเก็ต กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสวนวิกฤติโควิด-19 อย่างชัดเจน เพราะคนมองการ “ป้องกันมากขึ้น เป็นโจทย์ของการพัฒนาโครงการตรีวนันดาพื้นที่ 600ไร่ ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่พักอาศัยเป็นวิลล่า รีสอร์ทเพื่อสุขภาพ และสวนพฤกษศาสตร์

กิตติศักดิ์ ระบุว่า เวลเนสเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน และช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตไปได้อีกจากปกติการเข้ามาพักในวิลล่าใช้เวลาเฉลี่ย 4-5 วัน พอเป็นเวลเนส อยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไปและ จากงานวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวที่มาเวลเนส มีกำลังซื้อสูงและใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวธรรมดา 2-4 เท่า