ช่องโหว่เก้าอี้ "ที่ปรึกษากมธ.” โควตาไม่อั้น ไร้ระเบียบรองรับ

ช่องโหว่เก้าอี้ "ที่ปรึกษากมธ.”  โควตาไม่อั้น ไร้ระเบียบรองรับ

แม้ สภาฯ จะมีระเบียบ เพื่อวางเป็นบรรทัดฐานให้ตั้ง บุคคล เป็นที่ "คนทำงาน" ในกรรมาธิการ หรือ เป็นปรึกษาแบบไม่มีค่าตอบแทน แต่เมื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมีมาก ภาพของการแต่งตั้ง "ที่ปรึกษากมธ." ไร้ระเบียบรองรับ และโควต้าไม่อั้น จึงเกิดขึ้น

       กรณีของ “สนธิญา สวัสดี” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ยื่นเรื่องต่อ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ตรวจสอบ ดารา-ศิลปิน ที่ออกมา Call out รัฐบาล จนถูกสังคมขุดคุ้ยประวัติ และตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำที่โยงใยไปถึงพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโควตาของพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่

       “สนธิญา” เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบัน งานการของเขาคือเป็น “มือทำงานด้านกฎหมาย” ให้นักการเมือง สายองครักษ์พิทักษ์นายกฯ “แรมโบ้อีสาน” สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม เป็น “เสกสกล อัตถาวงศ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชารัฐ

162732115690

       อีกตำแหน่งที่ถูกจับจ้องคือ “ที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และ สิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร” ที่ “สิระ เจนจาคะ" ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. ซึ่งตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ. คนวงในสภาฯ ต่างรู้กันว่า เป็นของต้องมีเส้น!

       ก่อนที่เรื่องจะถูกสืบสาว “สิระ” รีบออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้จัก “สนธิญา" เป็นการส่วนตัว เพราะกมธ.ฯ มีที่ปรึกษาจำนวนมาก ก่อนตบท้ายว่าจะปรับออกเร็วๆ นี้

       “ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ต้องเสนอแต่งตั้ง และให้พ้นจากตำแหน่งตามมติของกรรมาธิการ แม้จะเป็นที่ปรึกษาที่ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีเบี้ยประชุม แต่ในทางทฤษฎีที่ปรึกษากรรมาธิการนั้น คือผู้ช่วยให้คำปรึกษาแก่กรรมาธิการในด้านต่างๆ และบางครั้งทำแค่จ็อบๆ แล้วจบกัน หรือบางครั้งที่ปรึกษาที่ทำตัวไม่เหมาะสม ไม่ช่วยงาน กรรมาธิการพิจารณาให้ออกได้” สิระ ระบุ

       หากละประเด็นความสัมพันธ์ “สนธิญา-สิระ” ไว้ก่อน สิ่งที่กลายเป็นคำถามต่อ คือตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ.ฯ มาได้อย่างไร

       ตามระเบียบของสภาฯ แบ่งการตั้งที่ปรึกษา กมธ. เป็น 3 ระดับ คือ

       1. ที่ปรึกษากมธ.ที่มีค่าตอบแทนและเบี้ยประชุม และต้องตั้งตามระเบียบของหน่วยงาน ใช้มติ กมธ.แต่งตั้ง และจะทบทวนทุกปีงบประมาณ

       2. ที่ปรึกษากมธ.ที่ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีระเบียบของหน่วยงานรองรับ ใช้เพียงมติของที่ประชุมกมธ.ในการแต่งตั้ง หรือปลด

       และ 3. ที่ปรึกษาประธานกมธ.โดยอำนาจของประธานกมธ.ไม่มีค่าตอบแทน

       ส่วนของที่ปรึกษา กมธ. ที่มีค่าตอบแทน ตามระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา พ.ศ.2554 กำหนดค่าตอบแทนไว้ว่า

       กรณีที่ปรึกษาที่มิได้เป็นข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท แต่หากที่ปรึกษานั้นเป็นข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 7,500 บาท

       อย่างไรก็ดีในการตั้งที่ปรึกษาประจำกมธ.นั้น จะตั้งได้โดยมีข้อจำกัดคือ ต้องคำนึงถึงงบประมาณที่แต่ละ กมธ.ฯ ได้รับจัดสรรงบ 1.2 แสนบาทต่อเดือน แต่งบจำนวนดังกล่าวต้องจัดสรรให้กับบุคคลที่จะทำหน้าที่ช่วยงาน กมธ. อีก 3 ตำแหน่ง คือ ผู้ชำนาญการ ซึ่งได้รับค่าตอบแทน 9,000 บาท นักวิชาการ ได้ค่าตอบแทน 8,000 บาท และเลขานุการได้ค่าตอบแทน 6,000 บาท

       โดยการจัดสรรตำแหน่งละกี่คน หรือจะตั้งมากน้อยแค่ไหนต้องยึด "การจัดสรรตามสัดส่วน กมธ. ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล” ด้วย

162732176742

       สำหรับการขออนุมัติให้ใช้มติที่ประชุม ดังนั้นในสัดส่วนที่ปรึกษาแต่ละกรรมาธิการฯ จะมีความลดหลั่นไปตามความต้องการ และข้อเสนอของ ส.ส. ที่นั่งเป็น กมธ.

       ส่วนที่ปรึกษา กมธ. ที่ "ไม่มีค่าตอบแทน” ตามระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาประจำ กมธ. ประจำสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีค่าตอบแทน พ.ศ.2562 กำหนดให้ตั้งที่ปรึกษาได้ ไม่เกิน 21 คน และต้องดำรงตำแหน่งกมธ. ได้เพียงคณะเดียวเท่านั้น

       พร้อมทั้งมีการกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามขั้นต้น อาทิ เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธ์ิใจ ไม่เป็นผู้บกพร่องทางศีลธรรมจนเป็นที่รังเกียจของสังคม และมีคุณสมบัติพิเศษ อาทิ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กมธ.เป็นอย่างดี

       ทั้งนี้ การตั้งที่ปรึกษาที่ไม่มีค่าตอบแทนต้องใช้มติของกมธ. และประธาน กมธ.ต้องให้คำรับรองคุณสมบัติ เช่นเดียวกับการพ้นตำแหน่งต้องใช้มติของ กมธ.ด้วยเช่นกัน

       ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งใคร ในโควตาพรรค หรือเส้นของใคร กมธ.ที่เข้าประชุมต้องรับรู้ เช่นเดียวกับคนที่เป็นประธาน กมธ. ที่ต้องลงชื่อรับรองการแต่งตั้ง ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือเพื่อแจ้งไปยังสำนักบริหารงานกลาง เพื่อออกบัตรประจำตัว ว่าเป็นที่ปรึกษา กมธ. แบบ “ไม่มีค่าตอบแทน”

       ที่สำคัญ ที่ปรึกษาประธานกมธ. สามารถตั้งได้โดยอำนาจของประธานกมธ. และต้องแจ้งให้ กมธ.ได้รับทราบ โดยตำแหน่งนี้จะตั้งได้ตามความประสงค์ของประธานกมธ.ไม่จำกัดจำนวน และตำแหน่งนี้ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ

       กรณีที่ “สิระ” บอกว่า กมธ.กฎหมายฯ ตั้งที่ปรึกษานับ 100 คน และยังระบุว่า บางคณะมี 300- 400 คน นั้น ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ “เป็นสิทธิของ กมธ.ฯ ทำได้ แต่ไร้ระเบียบราชการรองรับ"

       แหล่งข่าวระดับสูงจากรัฐสภายอมรับว่า “มี กมธ.ตั้งที่ปรึกษาโดยใช้เพียงมติของที่ประชุม กมธ.ซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ และกติกาของหน่วยงานกำหนดเป็นกรอบ หรือคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามากถึง 300 - 400 คนในคณะกมธ.เดียวหรือไม่ เพราะไม่เคยปรากฎเอกสารมายังหน่วยราชการ และบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดยไร้ระเบียบราชการรองรับ คนที่ต้องดูแลและรับผิดชอบคือประธานกมธ.ฯ”

       อย่างไรก็ดี ในประเด็นสนธิญา กลายเป็นบุคคลที่ถูกวิจารณ์ว่า เป็นหุ่นเชิดเพื่อปรามผู้วิจารณ์ - ปิดปากความเห็นโต้แย้งฝ่ายอำนาจรัฐ

       และขณะนี้ไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นผู้เชิด เช่นเดียวกับ “สิระ” ในฐานะประธาน กมธ.กฎหมายฯ ที่ปล่อยลอยแพ

       ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หากตรวจสอบจากความสัมพันธ์ “สนธิญา” เคยเข้ายื่นหนังสือต่อ “สิระ” เมื่อ 7 สิงหาคม 2563 เพื่อ ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฐานะประธานกมธ.ปราบโกง ที่ละเว้นการตรวจสอบ “ตำรวจ” ที่ยุ่งเกี่ยวกับ บ่อนย่านพระราม 3 ทั้งที่มีเหตุยิงกันจนเสียชีวิต

162732192451

       ต่อมา 13 สิงหาคม 2563 การประชุมครั้งที่ 39 มี “สิระ” นั่งหัวโต๊ะ นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม และมีมติตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาบ่อนการพนันและการพนันออนไลน์

       เมื่อตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ที่ “สิระ” เข้ารับตำแหน่ง ประธานกมธ. กฎหมาย ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2563  ไม่ปรากฎในเอกสารสรุปการประชุมว่า “แต่งตั้ง สนธิญา” รับตำแหน่งที่ปรึกษากมธ. หรือ ที่ปรึกษาประธานกมธ. มีเฉพาะการการแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานกมธ.ฯ ทั้งสิ้น 19 คน อาทิ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่ สมัย รามัญอุดม ศักดิ์ชัย เสาะแสวง สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เทพพิทักษ์ กุลมงคลชัยศรี อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคชาติพัฒนา ชนากานต์ ชัยศรี มิสไทยแลนด์เวิลด์ 1990 และ พ.ต.อ.สมศักดิ์ ถนอมบุญ อดีตข้าราชการตำรวจ เป็นต้น

       สำหรับประเด็นการใช้ตำแหน่งเรียกรับผลประโยชน์ ตามที่ “สิระ” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อ 23 กรกฏาคม 64 ระบุว่า “มีบางคนเอาตำแหน่งไปแสวงหาประโยชน์ เอาตำแหน่งทำให้เกิดความเสียหาย บางคนแต่งตั้งแล้วไม่เคยมาเลย พร้อมจะทบทวน”

       กรณีเอาตำแหน่งไปหาผลประโยชน์นั้น “สิระ” ไม่ยืนยันว่ามีเกิดขึ้นจริงหรือไม่ บอกแค่ว่า “มีการอ้างเป็นที่ปรึกษา ไปบอกประชาชน ซึ่งประชาชนไม่รู้ว่าเป็นที่ปรึกษาส่วนใด แต่อ้างตำแหน่งนี้ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ แม้ไม่มีบัตร แต่หากใครที่สงสัยว่าถูกหลอก ถูกหาผลประโยชน์ สามารถร้องมาที่ กมธ. ได้”

       ตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่ถูกตั้งเป็นที่ปรึกษาของกมธ. ในทางการเมือง ย่อมเป็นที่รู้กันว่าหากใครนำไปใช้ในทางไม่ดี หรือแม้ถูกร้องเรียน ก็ยากจะถูกตรวจสอบได้โดยง่าย

       ยิ่งการตั้งที่ปรึกษา กมธ.ได้ตามชอบ โดยไร้ระเบียบรองรับ จึงเป็นบทสะท้อนหนึ่งของ การแจกโควตา “เก้าอี้การเมือง” ที่อาจรับประกันได้ว่า เมื่อมีตำแหน่งหน้าที่แล้ว ได้ทุ่มเทการทำงานเพื่อปกป้องประโยชน์ประชาชน หรือปกป้องนายของตัวเองกันแน่.