'สำนักงบฯ' หนุนตั้งงบกลางปี 65 รับมือโควิด-19

'สำนักงบฯ' หนุนตั้งงบกลางปี 65 รับมือโควิด-19

สำนักงบฯ ลุ้น กมธ.งบฯเกลี่ยงบประมาณมาตั้งบรับมือโควิด-19 จากวงเงินที่ตัดค่าใช้จ่ายงบกระทรวงอื่นๆได้ 2 หมื่นล้านบาท เผยยืนงบจ่ายคืนเงินกู้ ธกส. 8 พันล้านบาท หลัง กมธ.จ่อตัดงบ ชี้จำเป็นต่อนโยบายช่วยเกษตรในปีงบประมาณต่อไป

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณในปี 2565 เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติมว่าในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ได้มีการหารือกันถึงการตั้งงบประมาณขึ้นมาเป็นงบกลางฯสำหรับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือค่าบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้เฉพาะเนื่องจากในปีงบประมาณ 2565 การจัดทำงบประมาณได้ให้หน่วยงานต่างๆทำจัดงบประมาณในส่วนของการรับมือกับโควิด-19 ไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามในชั้นของการพิจารณาของกรรมาธิการได้มีการปรับลดงบประมาณจากกระทรวงและหน่วยงานราชการต่างๆที่เสนอเข้ามาในการพิจารณาวาระแรกได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อเสนอในการขอใช้งบประมาณหลายส่วน แต่ส่วนหนึ่งได้มีการหารือว่าจะนำมาตั้งเป็นงบประมาณในการดูแลผลกระทบจากโควิด-19 คล้ายๆกับงบกลางฯโควิดในปีงบประมาณ 2564 แต่กรรมาธิการฯยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะตั้งงบประมาณในส่วนนี้เท่าไหร่ ส่วนวงเงินที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ 8.7 หมื่นล้านบาทคือวงเงินที่รัฐบาลตั้งเสนอไปแต่ก็จะถูกตัดลงเท่าที่จะสามารถจัดสรรได้เท่านั้น

 

“ในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2565 ยังอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท โดยการปรับเพิ่มงบประมาณในส่วนของงบกลางฯเพื่อใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับโควิด-19 นั้นขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะจัดงบได้เท่าไหร่แต่จะมีงบฯส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะมาใช้ในการรับมือกับโควิิด-19” 

162710201289

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวด้วยว่าสำนักงบฯได้เสนอว่าในส่วนของงบประมาณที่ปรับลดลงได้ให้นำไปตั้งงบประมาณคืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งรัฐบาลต้องใช้หนี้คืนจากนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตร และสินเชื่อต่างๆที่รัฐบาลให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายแล้วจ่ายคืนซึ่งเป็นวงเงินในปีนี้ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมในปีงบประมาณ 2565 จะไม่มีการตั้งงบประมาณคืน แต่เมื่อมีวงเงินที่สามารถจ่ายได้ก็ควรจะนำมาจ่ายเพราะในปีต่อๆไปรัฐบางต้องใช้วงเงินจากธ.ก.ส.มาใช้ในการดูแลเกษตรกรอีก และหากไม่มีการชำระหนี้คืนธ.ก.ส.ก็จะกระทบกับการวางแผนทางการเงินของ ธ.ก.ส.เช่นกัน