'3 เศรษฐีหน้าใหม่' รวยหุ้น & ธุรกิจบูม

'3 เศรษฐีหน้าใหม่' รวยหุ้น & ธุรกิจบูม

เปิดพอร์ตลงทุน 3 นักธุรกิจ ติดทำเนียบเศรษฐีหน้าใหม่เมืองไทย 'รวยหุ้น' หลังความมั่งคั่งเพิ่มพูน ตาม Capital Gain สะท้อนผ่านมาร์เก็ตแคประดับ 'หมื่นล้าน'..!! ขณะที่บัลลังก์ธุรกิจไม่สะเทือนผลประกอบการเติบโต แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 รุมเร้า

ประสบความสำเร็จ !! จากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สร้างความโดดเด่นในรูปของ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (Market Capitalization) ที่ยืนเหนือระดับ 'หมื่นล้าน' สำหรับ 3 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA , บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT และ บมจ. ดูโฮม หรือ DOHOME

กลายเป็นการเกิดขึ้นของ 3 เศรษฐีหุ้นใหม่ จาก 4 กลุ่มธุรกิจ 'สมชาย รัตนภูมิภิญโญ' ผู้ก่อตั้งธุรกิจอาหาร บมจ. อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย 'ไวยวุฒิ สินเจริญกุล' ลูกชายของ 'สมหวัง สินเจริญกุล' คู่พ่อลูกผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจยางธรรมชาติ-ถุงมือยาง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี และ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ด้วย และ 'อดิศักดิ์-นาตยา ตั้งมิตรประชา' ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน บมจ.ดูโฮม 

ที่พิสูจน์ฝีมือจากการเติบโต 'ก้าวกระโดด' ของธุรกิจจน 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) ให้พุ่งทยาน ประเมินจาก 'กำไรจากส่วนต่างของราคา' (Capital Gain) ที่ขยับเพิ่มขึ้น แตะระดับพันล้านไปจนถึงหมื่นล้าน...

'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' เปิดเส้นทาง 'ความร่ำรวย' ของ 3 หุ้นใหญ่ เศรษฐีใหม่นักธุรกิจ...!! ติดโผการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2564 จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร 'ฟอร์บส ไทยแลนด์' 

มุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมอาหารคือ เป้าหมายของ 'สมชาย รัตนภูมิภิญโญ' ผู้ก่อตั้ง RBF ด้วยการเพิ่มมูลค่ากลิ่นและรสชาติ เป็นโรงงานผู้ผลิตเกล็ดขนมปังชั้นนำในประเทศไทย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตาม 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) และ 'รับจ้างผลิต' (OEM) เป็นหลัก เพื่อสร้างความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง และ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท เช่น อังเคิลบาร์นส์, เบสท์ โอเดอร์ และ super-find เป็นต้น 

โดยธุรกิจเติบโตมาต่อเรื่อยๆ ก่อนจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ด้วยราคาเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) อยู่ที่ 3.30 บาทต่อหุ้น 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 'อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย' กลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap ขยับขึ้นมาเป็น 43,000 ล้านบาท (15 ก.ค.2564) จาก 8,800 ล้านบาท (31 ธ.ค.2562) หรือพุ่งขึ้น 'มากถึง 388.63%'

ขณะที่วันแรกราคาหุ้น RBF อยู่ที่ 4.36 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 32.12% จากราคาไอพีโอ 3.30 บาท แต่ปัจจุบันพบว่าราคา หุ้น RBF อยู่ที่ 21.40 บาท (15 ก.ค. 2564) โดยปี 2564 ถือว่าหุ้น RBF ขึ้นไปทำราคา 'จุดสูงสุด' (New High) 23.60 บาท (2 ก.ค. 2564) 

การเติบโตของราคาหุ้น RBF ยังสะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2562-ไตรมาส 1 ปี 2564) บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 352.78 ล้านบาท 519.02 ล้านบาท และ 75.02 ล้านบาท ขณะที่มี 'รายได้' อยู่ที่ 2,881.99 ล้านบาท 3,187.27 ล้านบาท และ 849.85 ล้านบาท ตามลำดับ 

ปัจจุบัน 'สมชาย รัตนภูมิภิญโญ' คือผู้ถือหุ้นอันดับ 2 จำนวน 556,030,900 หุ้น คิดเป็น 27.80% รองจาก 'เพ็ชรา รัตนภูมิภิญโญ' ถือหุ้นจำนวน 556,031,000 หุ้น คิดเป็น 27.80% 

หากคำนวณกับจำนวนหุ้นที่ 'สมชาย' ถืออยู่กับราคาหุ้น RBF สูงสุดของปีนี้ 23.60 บาท พบว่าจะได้เม็ดเงิน 'ประมาณ 13,122 ล้านบาท' 

เท่ากับว่า เขาใช้เวลาเพียง 3 ปี สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้แตะหลักหมื่นล้านบาท !!

162704647241

อีกหนึ่งเศรษฐีหุ้นคนใหม่ 'สมหวัง-ไวยวุฒิ สินเจริญกุล' คู่พ่อลูกผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจยางธรรมชาติรายใหญ่-ธุรกิจถุงมือยาง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี และ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ซึ่งทั้ง STA-STGT เป็นหุ้นที่เรียกว่า 'ติดลมบน' ขึ้นแท่นหุ้นขวัญใจมหาชนไปแล้ว โดย บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 บริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา บริษัทได้มีการขยายการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับความเติบโตของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทเริ่มต้นจากสายการผลิตยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ในปลายปี 2536 ได้เริ่มขยายสายการผลิตทำการผลิตน้ำยางข้นเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ ถุงยาง อุตสาหกรรมยางยืด และอื่นๆ 

นอกจากนี้ ได้ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจปลายน้ำ ได้แก่ ถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้ในทางการแพทย์และทางอุตสาหกรรม โดยดำเนินการผลิตทั้งในลักษณะการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ตามคุณสมบัติ และความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท อาทิ 'ศรีตรังโกลฟส์'

ก่อนจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดย STA เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2534 ด้วยราคาเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ)อยู่ที่ 60 บาทต่อหุ้น มูลค่าพาร์ 10 บาท ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาพาร์ล่าสุดอยู่ที่ 1 บาท (6 ก.ค.2553) 

ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap ขยับขึ้นมาเป็น 56,832 ล้านบาท (15 ก.ค.2564) ขยับขึ้นมาจากปี 2563 อยู่ที่ 40,704 ล้านบาท (31 ธ.ค.2563) หรือพุ่งขึ้น 'มากถึง 39.62%' 

ขณะที่ราคาหุ้น STA นับตั้งแต่ต้นปี 2564 อยู่ที่ 26.25 บาท (4 ม.ค.2564) เพิ่มขึ้น 48.57% จากราคาหุ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 อยู่ที่ 39 บาทต่อหุ้น แต่หากดูคำนวณจากราคาจุดสูงสุด (New High) ของปี 2546 ที่หุ้น STA ขยับขึ้นไปทำราคาอยู่ที่ 56.75 บาท (1 มี.ค.2564) พบว่าราคาหุ้นเพิ่ม 116.19% 

การเติบโตของราคาหุ้น STA ยังสะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2562-ไตรมาส 1 ปี 2564) บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ -148.54 ล้านบาท 9,531.21 ล้านบาท และ 5,958.50 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 60,602.38 ล้านบาท 75,879.46 ล้านบาท และ 31,664.19 ล้านบาท ตามลำดับ 

และในปี 2563 บริษัทแยกธุรกิจถุงมือยางออกมาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 ด้วยราคาเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) อยู่ที่ 34 บาทต่อหุ้น มูลค่าพาร์ 1 บาท ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงพาร์เหลือ 0.50 บาท (5 ม.ค.2564) 

ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap อยู่ที่ 107,158.50 ล้านบาท (15 ก.ค.2564) จากปี 2563 อยู่ที่ 108,587.28 ล้านบาท (31 ธ.ค.2563) หรือลดลงเล็กน้อย 'ประมาณ 1.31%'  

ขณะที่ราคาหุ้น STGT เปิดซื้อขายวันแรกราคา 55.25 บาท (2ก.ค.2563) และกลายเป็นราคาต่ำสุด (ราคาพาร์ 1 บาท) ก่อนบริษัทซื้อขายพาร์ใหม่ 0.50 บาท (5 ม.ค.2564) ซึ่งส่งผลให้หุ้น STGT เพิ่มขึ้นเป็น 2,869.56 ล้านหุ้น จากเดิมอยู่ที่ 1,434.78 ล้านหุ้น โดยปี 2564 หุ้น STGT ซื้อขายในราคาพาร์ใหม่ทำราคาสูงสุด (New High) อยู่ที่ 43.25 บาทต่อหุ้น (18 ก.พ.2564) และ ปัจจุบัน 39.50 บาท (16 ก.ค.2564) 

การเติบโตของราคาหุ้น STGT ยังสะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2562-ไตรมาส 1 ปี 2564) บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 634.30 ล้านบาท 14,400.87 ล้านบาท และ 10,051.57 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 12,139.69 ล้านบาท 30,692.41 ล้านบาท และ 15,499.84 ล้านบาท ตามลำดับ 

แต่หากดูจากรายชื่อผู้ถือหุ้น STA และ STGT ในตลาดหลักทรัพย์ปรกฎเพียงชื่อของ 'ไวยวุฒิ สินเจริญกุล' คือผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ของ STA จำนวน 132,987,509 หุ้น คิดเป็น 8.66% ไม่นับรวมที่ถือหุ้นใน บริษัท ศรีตรัง โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 343,790,629 หุ้น คิดเป็น 22.38% ขณะที่ 'ไวยวุฒิ' คือผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ของ STGT จำนวน 136,418,400 หุ้น คิดเป็น 4.77% ไม่นับรวมที่ถือหุ้นใน บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 1,450,074,600 หุ้น คิดเป็น 50.75% และไม่รับรวมที่ถือใน บริษัท ศรีตรัง โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ถือหุ้นอันดับ 5 จำนวน 106,753,800 หุ้น คิดเป็น 3.74%

หากคำนวณกับจำนวนหุ้นที่ 'ไวยวุฒิ' ถืออยู่กับราคาหุ้น STA ที่ราคาสูงสุดของปีนี้อยู่ที่ 56.75 บาท พบว่าจะได้เม็ดเงิน 'ประมาณ 7,547 ล้านบาท' และถือหุ้น STGT คำนวณที่ราคาสูงสุดของปีนี้อยู่ที่ 43.25 บาท พบว่าจะได้เม็ดเงิน 'ประมาณ 5,900 ล้านบาท' 

เท่ากับว่า เขาใช้เวลาสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้แตะหลักพันล้านบาทแต่หากรวม STA-STGT จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองระดับหมื่นล้านบาท !!

ขณะที่ ร้านวัสดุห้องแถวเล็กๆ ในภูธร ที่มีจุดเริ่มต้นคือร้านค้าวัสดุก่อสร้างห้องแถวเล็ก ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2526 และมีพนักงานเพียง 4-5 คน มีเงินเปิดร้านเริ่มต้นแค่ 200,000-300,000 บาท ในชื่อ 'ศ.อุบลวัสดุ' จากฝีมือของสามีภรรยาอย่าง 'อดิศักดิ์-นาตยา ตั้งมิตรประชา' ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ดูโฮม หรือ DOHOME จากกลยุทธ์ที่เน้นขายสินค้าในราคาถูกทำให้ร้านค้าห้องแถวเล็ก ๆ นี้ เติบโตอย่างรวดเร็ว 

หลังจากโลดแล่นอยู่ในตลาดค้าวัสดุก่อสร้างมาร่วม 37 ปี ปลายปีที่ผ่านมาเป็นขวบปีที่ 36 ที่ดูโฮมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง คือการพาตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดนามสกุลมหาชน เข้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2562 ด้วยราคาเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) อยู่ที่ 7.80 บาทต่อหุ้น 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดูโฮม กลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap ขยับขึ้นมาเป็น 63,360.09 ล้านบาท (15 ก.ค.2564) จาก 30,317.25 ล้านบาท (31 ธ.ค.2562) หรือพุ่งขึ้น 'มากถึง 108.99%'

ขณะที่วันแรกราคาหุ้น DOHOME อยู่ที่ 7.80 บาทต่อหุ้น ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาจองที่ 7.80 บาทต่อหุ้น ระหว่างนั้นราคาได้ปรับตัวลดลงต่ำจองอยู่ที่ 7.75 บาท แต่ปัจจุบันพบว่าราคาหุ้น DOHOME อยู่ที่ 26.75 บาท (15 ก.ค. 2564) โดยปี 2564 ถือว่าหุ้น DOHOME ขึ้นไปทำราคา 'จุดสูงสุด' (New High) 30.75 บาท (6 มิ.ย. 2564) 

การเติบโตของราคาหุ้น DOHOME ยังสะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2562-ไตรมาส 1 ปี 2564) บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 725.51 ล้านบาท 726.68 ล้านบาท 543.15 ล้านบาท ขณะที่ 'ร'ายได้' อยู่ที่ 17,971.82 ล้านบาท 18,924.82 ล้านบาท และ 6,139.29 ล้านบาท ตามลำดับ 

ปัจจุบัน 'อดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา' คือ ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 จำนวน 252,000,000 หุ้น คิดเป็น 11.64% และยังไม่ได้รวมหุ้นที่อยู่ใน บริษัท ดูโฮมโฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 630,000,000 หุ้น คิดเป็น 29.09% ขณะที่ 'นาตยา ตั้งมิตรประชา' เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 จำนวน 189,000,000 หุ้น คิดเป็น 8.73% 

หากคำนวณกับจำนวนหุ้นที่ 'อดิศักดิ์' ถืออยู่กับราคาหุ้น DOHOME สูงสุดของปีนี้ 30.75 บาท พบว่าจะได้เม็ดเงิน 'ประมาณ 7,749 ล้านบาท' (ไม่รวมที่ถือหุ้นใน ดูโฮมโฮลดิ้ง) ขณะที่ 'นาตยา' พบว่าจะได้เม็ดเงิน 'ประมาณ 5,811 ล้านบาท' 

เท่ากับว่า เขาใช้เวลาเพียง 3 ปี สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้แตะหลักพันล้านบาท !!

ทะลวงเป้าหมาย 'เติบโต'

'สุรนาถ กิตติรัตนเดช' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ. อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอรับอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยในปัจจุบันทางอย. ได้พิจารณา ดังนี้ 1.ออกใบอนุญาต ผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือ อุตสาหกรรม การได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะสามารถดำเนินการปลูกพืชกัญชงตามคำสั่งซื้อลูกค้า และ 2.ออกใบอนุญาตกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง โดยสลักหลังเพิ่มประเภทอาหารในใบอนุญาตผลิตอาหาร

ซึ่งการได้รับใบอนุญาติดังกล่าว บริษัทย่อยจะสามารถดำเนินการสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง โดยนำผลผลิตที่ได้จากสารสกัดไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สมุนไพร อาหารเสริม และ สินค้าอื่น ๆ ภายใต้ข้อกำหนดของตามที่สำนักคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตสู่ตลาดในประเทศ และ ตลาดต่างประเทศ โดยคาดว่า จะเริ่มมีรายได้เชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2564

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ธุรกิจใหม่นี้อาจไม่ได้เห็นภาพการสร้างรายได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าจะส่งผลที่ชัดเจน และหนุนการเติบโตของรายได้ที่ดีในปี 2565

'วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล' กรรมการบริหาร บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณการขายยางธรรมชาติในปีนี้หลังประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 64 แล้ว โดยล่าสุด ได้เดินหน้าแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตยางแท่ง (TSR) ที่โรงงาน 3 แห่ง ในจังหวัดบึงกาฬ พิษณุโลกและสกลนคร ใช้งบลงทุนรวม 1,060 ล้านบาท จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 9% หรือประมาณ 180,000 ตันต่อปี เดิมกำลังการผลิตยางแท่ง 1.8-1.9 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐอเมริกา จีน ประเทศในแถบยุโรป ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพื่อผลิตยางล้อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเดินทางด้วยรถส่วนตัวเพิ่มขึ้น และความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพื่อผลิตถุงมือยางที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

'ธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์' กรรมการและผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 จะปรับตัวลดลงจากช่วงไตรมาสแรกตามที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากราคาขายถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง หลังกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการแต่ละแห่งเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศจีน ประกอบกับยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งบางส่วนทางเช่นในสหรัฐฯและยุโรป

ทั้งนี้ แม้ว่าราคาขายถุงมือยางในตลาดจะปรับตัวลดลง แต่ปริมาณคำสังซื้อ (ออร์เดอร์) ล่วงหน้าจากลูกค้ายังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 64 ความต้องการ (ดีมานด์) จะยังคงใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะมีการเปิดโรงงานใหม่อีก 3 แห่ง ซึ่งจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเต็มที่ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 ล้านชิ้นต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 33,000 ล้านชิ้นในปี 63 และคาดว่าจะช่วยชดเชยราคาขายถุงมือยางที่ปรับตัวลดลงได้ เพราะกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการปีนี้บริษัทมั่นใจว่าจะเติบโตสูงกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1 ปี 64 ที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิกว่า 10,000 ล้านบาท แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งปีก่อนที่ทำได้ราว 14,400 ล้านบาท

'มยุรีย์ สีทา' ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลกิจการ เลขานุการ และนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. ดูโฮม หรือ DOHOME เปิดเผยว่า บริษัทจะลงทุนขยายสาขาขนาดใหญ่ หรือไซต์ L เพิ่มอย่างน้อยปีละ 5 สาขาต่อปี โดยแต่ละสาขาคาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400-450 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน ตั้งแต่ปี 2565-2568 ซึ่งจะทำให้ในปี 68 มีสาขาขนาดใหญ่ หรือ ไซต์ L-XL รวม 36 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ 16 สาขา รวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับการเติบโตของสาขา เพิ่มความคล่องตัวสำหรับโอกาสการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต 

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 64 คาดดีกว่าไตรมาส 1 ปี 64 เนื่องจากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) สูงกว่าไตรมาส 1 ปี 64 ที่อยู่ที่ 22.5% ขณะที่ยอดขายรวมโต 40% กำลังซื้อยังดีแม้โควิดระบาดรอบ 3 ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นมองว่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 64 อยู่ที่ระดับ 21.7%

สำหรับปีนี้คงเป้ารายได้มีโอกาสเติบโตระดับ 20,000 ล้านบาท จากยอดขายสาขาเดิมโตดี และการรับรู้ยอดขาย 2 สาขาใหม่ ที่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ โซนอมตะนคร จ. ชลบุรี และในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เปิดปลายปีนี้ แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน เนื่องจากการอาจกระทบกับการบริโภคบ้าง