รู้แล้ว 'ณวัฒน์อยู่โรงพยาบาลอะไร' รพ.แถลงด่วน

รู้แล้ว 'ณวัฒน์อยู่โรงพยาบาลอะไร' รพ.แถลงด่วน

CEO รพ.ปิยะเวท แถลงชี้แจง “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ออกจากรพ.แล้ว ระบุแพทย์ประเมินอาการดีขึ้นสามารถกลับไปพักฟื้นนอกรพ.ได้ ระหว่างรักษาไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ เผยรพ.ดูแลผู้ป่วยสีเขียวกว่าวันละ 2,000 ราย กลายเป็นสีเหลืองต้องการเตียงรพ. วันละราว 20 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่โรงพยาบาลปิยะเวท มีการแถลงข่าวชี้แจงกรณีนายณวัฒน์ อิสรไกรศีล โดยนพ.วิทิต อรรถเวชกุล CEO รพ.ปิยะเวท กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่เป็นกระแสข่าวทางสื่อโซเชียลกรณีของการรักษาการเจ็บป่วยของคุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ซึ่งได้เข้ามาพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2564 จากที่มีการป่วยติดโควิด19 ซึ่งรพ.ได้รับตัวไว้รักษาตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 วันที่ผ่านมา และการเจ็บป่วยนั้นมีบางช่วงพบเป็นการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง คณะแพทย์และพยาบาลได้ช่วยกันรักษาจนอาการดีขึ้นตามลำดับ

ด้วยเหตุผลของภาวะโรคระบาดในกทม.มีความรุนแรงขึ้น เตียงผู้ป่วยในรพ.นั้นๆก็จะมีความขาดแคลนเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก  ที่รอเข้ารับการรักษาในรพ. โดยเฉพาะระยะหลัง ผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่มีอายุมาก นอกจากนี้ มีผู้ตั้งครรภ์ และเด็กเล็กด้วย เชื่อว่ารพ.ทุกแห่งในกทม.ประสบภาวะเดียวกัน

ทางฝ่ายบริหารจึงได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ป่วยทุกท่านที่มีอาการดีขึ้น ไม่ได้เลือกปฏิบัติใคร ถ้ามีความพร้อมลงไปพักที่ฮอสพิเทลของปิยะเวท ที่มีถึง 2,500 เตียงตามโรงแรมต่างๆที่ร่วมมือไว้ก็ยินดีให้ไปพักฟื้นหรือพักผ่อนที่นั่น หรือที่บ้าน ก็มีโครงการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหลายหน่วยงานทำเรื่อง Home Isolsation หรือ Community Isolation ขยายทางเลือก

แต่การสื่อสารที่อาจจะทำให้การเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรองผอ.และคนไข้เอง จึงเกิดเรื่องที่เป็นไปตามกระแสข่าวที่ได้รับทราบรับฟังไปในช่วง 1-2 วันนี้

อย่างไรก็ตาม นพ.วิทิต ระบุว่า หลังจากที่มีการพูดคุยกันระหว่างรองผอ.จนถึงเมื่อวานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร คุณณวัฒน์ก็ได้พักรักษาในรพ.เหมือนปกติ คณะแพทย์ก็ชุดเดิม การรักษาเหมือนเดิมทุกประการ แต่เมื่อคืนนี้เวลาประมาณ 22.00 น. ตนได้รับโทรศัพท์จากคุณณวัฒน์โทรเข้ามาหา พูดคุย ในลักษณะที่ขออนุญาตไปพักที่บ้าน ตามความสมัครใจที่ขอกลับบ้าน ก็ได้อนุญาต เพราะได้ดูประวัติการรักษา อะไรต่างๆแล้วสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้าน โดยได้มอบหมายให้แพทย์ที่ดูแลอยู่ประจำได้ใช้เทเลเมดิซีน หรือโทรเข้าไปติดตามสุขภาพต่างๆ ภาวะของคุณณวัฒน์จากนี้ไป

"สรุปว่า คุณณวัฒน์ได้ขออนุญาตกลับบ้าน ไปพักผ่อนที่บ้านเป็นที่เรียบร้อย ได้เดินทางออกจากรพ.เมื่อเช้าตรู่วันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ 2 ฝ่ายได้ปรึกษาพูดคุยต่อเนื่องต่อไป เป็นการเข้าใจกันดี ด้านรองผอ.ช่วงที่เกิดเหตุการณ์รวมถึงแพทย์ พยาบาลทุกที่เหนื่อยกับโควิดมาเป็นปี เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่สบายใจจึงขอพักร้อนไประยะหนึ่ง เมื่อครบเวลาแล้วคงกลับมาปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม" นพ.วิทิต กล่าว

ต่อข้อถามทำไมถึงให้รองผอ.เป็นผู้แจ้งการออกจากรพ.แทนที่จะเป็นแพทย์เจ้าของไข้ นพ.วิทิต กล่าวว่า เนื่องจากมีการแบ่งหน้าที่ การจะแจ้งร้องขอความร่วมมือ เพราะมีคนไข้จำนวนมาก ซึ่งแพทย์ที่รักษารับทราบนโยนบายของรพ. ซึ่งทุกรพ.ของรัฐและเอกชนเมื่อคนไข้ดีขึ้น และจำนวนเตียงผู้ป่วยที่ล้นแบบนี้ ก็จะขอความร่วมมือ ทุกที่เป็นปกติ

ถามถึงจำนวนคนไข้ที่ตกค้างช่วงที่คุณณวัฒน์รักษาตัวอยู่ นพ.วิทิต กล่าวว่า ขณะนี้คนไข้โควิดติดเชื้อมี 3 ระดับ คือ สีเขียว อาการน้อย, สีเหลือง อาการปานกลาง และ สีแดง อาการมาก ต้องเข้าไอซียู 

โดยขณะนี้ "สีเขียว" ที่ปิยะเวทดูแลอยู่วันละ 2,000 คนที่อยู่ฮอสพิเทล เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 จำนวน 2,570 คน เหล่านี้บางคนอายุมาก อาการแย่ลงจะกลายเป็น "สีเหลือง" บางวันคนที่อาการแย่ลงจำเป็นต้องเข้ารักษาในรพ. ซึ่งรายที่กลายเป็นสีเหลืองวันละมากกว่า 20 ราย 

“การที่ต้องให้คนไข้เปิดกล้องวงจรปิดไว้ เพราะแพทย์อยากร้องขอให้คนไข้ที่ดูแลอยู่หรือกังวลว่าอาการจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลด้วยส่วนหนึ่ง แต่จริงๆรพ.ด้วยโรคโควิดที่มีความรุนแรงการระบาดที่ค่อนข้างแรง จึงอาศัยกล้องวงจรปิดในบางคนในบางช่วงให้คนไข้ร่วมมือ เพื่อไม่ต้องใส่ชุดพีพีอีเข้าๆออกๆตลอดเวลา” นพ.วิทิตกล่าว  

     

ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีการรักษาคุณณวัฒน์ มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ นพ.วิทิต กล่าวว่า คำว่า "เครื่องช่วยหายใจ" หมายถึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจและมีเครื่อง ก็ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เมื่ออาการแย่ลงได้ใช้เครื่องช่วยให้หายใจได้ออกซิเจนมากขึ้น เมื่ออาการดีขึ้น บางครั้งคุณณวัฒน์ก็ใส่ บางครั้งก็ไม่ใส่ เว้นช่วงเหนื่อยอาจจะออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ในห้อง เช่น พูดนานๆก็แสดงเหมือนอาการเหนื่อยออกมา ซึ่งเป็นการให้ออกซิเจนธรรมดา แต่ไม่ใช่เครื่องช่วยที่ใส่ท่อเหมือนคนไข้ในไอซียู

ถามถึงการดำเนินคดี นพ.วิทิต กล่าวว่า นโยบายรพ.ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ทุกคนที่ไม่สบาย จิตใจอาจจะไม่พร้อมที่จะสื่อสารอะไรเต็มร้อย อาจจะมีจิตใจที่ยังไม่สบายใจ เวลาไม่สบายตัวมักจะไม่สบายใจไปด้วย รพ.ไม่ได้คิดจะดำเนินคดีหรือเรียกร้องใดๆ ส่วนกรณีที่มีการไลฟ์สดถ้ามีการพาดพิงบุคคลที่ 3 หรือองค์กรก็คงต้องใช้วิธีการพูดคุยกันก่อน

ข่าวลือกรณีรพ.มีการไล่แพทย์ออก นพ.วิทิต กล่าวว่า ไม่ได้ไล่ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น บ่อยครั้งต้องการให้แพทย์หลีกเลี่ยงจากความไม่สบายใจ เมื่อมีความไม่สบายใจ มักจะให้แพทย์พักก่อน ทั้งนี้ ส่วนตัวได้ฟังการเจรจาของรพ.ผอ. ก็ได้ใช้น้ำเสียงขอความร่วมมือ ไม่ได้ใช้น้ำเสียงในการใช้อำนาจหรือข่มขู่ เป็นการทำหน้าที่ของแพทย์ที่สมบูรณ์ทั่วๆไป