ผุดไอเดีย 'รพ.สนามในโรงงาน' จ.สมุทรสาคร รับผู้ติดเชื้อโควิด 19

ผุดไอเดีย 'รพ.สนามในโรงงาน' จ.สมุทรสาคร รับผู้ติดเชื้อโควิด 19

ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานฯ ผุดไอเดีย ตั้ง 'รพ.สนามในโรงงาน' จ.สมุทรสาครรับผู้ติดเชื้อโควิด ตามโครงการ 'รักษ์คนสาคร'

น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามสถาบันอนุสรีรวมใจให้กัน ร่วมกับ กลุ่ม "เฮียธิ พี่อาย ทนายกันต์" (ธิติรัตน์ พุ่มไสว อนุสรี และ กันต์กวี ทับสุวรรณ)

พร้อมด้วย นายอำเภอกระทุ่มแบน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระทุ่มแบน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่เพื่อใช้อาคารคลังสินค้าเป็นโรงพยาบาลสนาม ขนาด 100 เตียง ของบริษัท STEK ออโตโมทีฟ จำกัด และบริษัท วิสดอม คอปอเรชั่น จำกัด ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

  • ตั้ง 'รพ.สนามในโรงงาน' เป็นแบบกึ่ง 'Hospitel' 100 เตียง

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า จากการสำรวจสถานที่ซึ่งเป็นอาคารคลังสินค้าของบริษัทดังกล่าว สามารถใช้เป็นโรงพยาบาลสนามกึ่ง Hospitel ขนาด 100 เตียง ภายใต้โครงการ รักษ์คนสาคร  เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้นได้ ซึ่งภายในอาคารจะมีการใช้ระบบด้วยระบบห้องความดันลบ (Negative pressure room)

เป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลรักษา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่สามารถแพร่กระจายได้ในอากาศได้ดี เนื่องจากห้องความดันลบจะช่วยปรับความดันภายในห้องให้เป็น Negative หรือมีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้อง
เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกมาสู่ภายนอก ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคอยู่ภายในห้องไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก และมีเครื่องดูดอากาศเสียให้เป็นอากาศดี

  • จัดระบบTelemedicine มาช่วยลดปัญหาขาดแคลนแพทย์

โดยระบบมอเตอร์จะดูดอากาศที่อาจมีเชื้อโรคเจือปนผ่านเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองอนุภาคขนาดเล็กเพื่อกรองเชื้อไวรัสและปล่อยออกมาเป็นอากาศดีสู่ภายนอกอาคาร ที่สำคัญเป็นห้องกักเชื้อจากประสิทธิภาพการควบคุมการไหลเวียนของอากาศ จึงสามารถจำกัดบริเวณการเคลื่อนของเชื้อโรคให้อยู่ในบริเวณที่ควบคุมเท่านั้น จึงทำให้จุดต่าง ๆ ของสถานที่มีความปลอดภัย เพราะสามารถกักกันเชื้อโรคในบริเวณจำกัดจึงจะดีกว่าโรงพยาบาลสนามทั่วไป

นอกจากนี้ น.ส.อนุสรี ยังได้เสนอให้มีการจัดระบบดูแลคนป่วย โดยให้แพทย์หรือ บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามอาการได้ทางระบบ Telemedicine มาช่วย ลดปัญหาการ ขาดแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์มาประจำ พร้อมจัดรถตู้รับส่งผู้ป่วยจากบ้านถึง โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย