'สแตนชาร์ด' เผยต่างชาติมอง 'เศรษฐกิจไทย' ยังเสี่ยง

'สแตนชาร์ด' เผยต่างชาติมอง 'เศรษฐกิจไทย' ยังเสี่ยง

สแตนชาร์ดเร่งรัฐบาลอัดวัคซีนคุมโควิด เผยต่างชาติมองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ทิศทางบาทอ่อนต่อหนุนส่งออก ชี้การขยายกรอบหนี้จะเพิ่มช่องกู้เอื้อการใช้นโยบายการคลัง เชื่อแบงก์ชาติคงนโยบายดอกเบี้ย 3 ปี แนะธุรกิจรับมือทิศทางดอกเบี้ยโลกปรับขึ้น

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)แถลงอัพเดทเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 โดยกล่าวถึงผลการพบปะนักลงทุนต่างชาติราว 150 คนที่ธนาคารได้จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและเสี่ยงค่อนข้างมาก มีราว 10% เท่านั้น ที่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัวต่อ

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดในเอเชีย ซึ่งตอนนี้ เทรดที่ 32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถ้าดูตลอดทั้ง 7 เดือนก็อ่อนค่าที่สุด ฉะนั้น แนวคิดเรา คือ ค่าเงินบาทยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยมีปัจจัยเข้ามากระทบ คือ สถานการณ์โควิด-19 การท่องเที่ยว และ ราคาน้ำมัน

“บาทอยู่ในโฟกัสของนักลงฝทุนต่างชาติตลอดระยะ 5 ปี เพราะแข็งค่าต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ เขาโฟกัสว่า ทำไมบาทถึงแข็ง แบงก์ชาติจะทำอะไรบ้าง เมืองไทยมีอะไรดี แต่รอบนี้ที่เจอ นักลงทุนยังสนใจบาทเทียบกับสกุลอื่น แต่คำถาม คือ บาทจะอ่อนไปถึงเท่าไหร่ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับไปแข็งแรงเหมือนในอดีต”

เขากล่าวว่า สิ่งสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจในขณะนี้ คือ การคุมโควิด-19ให้ได้ และ จัดหาวัคซีนให้เพียงพอ โดยธนาคารยังมองด้านบวกของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน โดยด้านแรก คือ การขยายตัวเศรษฐกิจไทย ซึ่งปีนี้ ประเมินยาก เพราะโควิด-19 ยังไม่จบ แต่เรายังมองที่ 1.8% ส่วนปีหน้าเราประเมินจีดีพีดีขึ้นมาอยู่ที่ 3.1%

ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลสามารถคุมโควิด-19 ได้ จะทำให้การดำเนินนโยบายการคลังทำได้ดีขึ้น วันนี้ อาจมีการพูดถึง การยกเพดานหนี้สาธารณะขึ้น ซึ่งวันนี้อยู่ที่ 55% ต่อจีดีพี ได้ยินเรียกร้องให้ยกเพดาน 70% หรือมากกว่านั้น เราเห็นว่า การยกเพดานหนี้ ทำให้มี Roomการกู้เพิ่ม แต่ Roomที่เพิ่มขึ้น จะไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ายังไม่มีการวัคซีนมากกว่านี้ หรือ นำเงินมาใช้เพื่อการเยียวยา อาจเห็นประสิทธิภาพไม่มาก ขณะเดียวกัน เพดานหนี้ที่ยกขึ้น ถ้านโยบายการคลังใช้เพื่อการกระตุ้นหรือฟื้นฟูจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

นอกจากนี้ เราเห็นว่า ด้านการท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้น โดยไตรมาสนี้ นักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตเกือบหมื่นคน มีคนติดโควิด-19ประมาณ 20 คนเท่านั้น ฉะนั้น เดินหน้าไปได้ดี คิดว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีหรือปีหน้า อาจจะต้องดูความพร้อมในฝั่งของโรงแรมที่ยังต้องมีการปรับปรุงหลังจากปิดมานาน

อีกปัจจัยบวก คือ การส่งออก ซึ่งดีขึ้นมาก ในเดือนมิ.ย.ขยายตัวถึง 44% คิดว่า ปีนี้ การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของประเทศ จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ซึ่งบาทที่อ่อนก็จะเป็นปัจจัยบวก แต่ถ้าโควิด-19 ลามไปในภาคโรงงานก็อาจจะกระทบส่งออก

สำหรับนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ เราคิดว่า แบงก์ชาติจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ตลอดระยะ 3 ปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 4 ส.ค.นี้ ที่ประชุมก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าว

“จะไม่แปลกใจที่จะอาจจะมีคณะกรรมการกนง.หนึ่งคนโหวตไปในทางลดดอกเบี้ย เพราะแบงก์ชาติที่ผ่านมา จะค่อนข้างสื่อสารออกมาในแง่เห็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยจากเดลต้าหรือล็อกดาวน์ ถ้าท้ายที่สุดคนหนึ่งจะโหวตลดดอกเบี้ยจะไม่ตกใจ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเตรียมตั้งรับ คือ ธนาคารกลางอื่น เริ่มพูดเรื่องความเข้มงวดนโยบายการเงิน ซึ่งอาจขึ้นดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นปีนี้ ฉะนั้น แม้เราอยากคงดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อช่วยครัวเรือนที่เจอปัญหาโควิด-19 แต่โลกกำลังเตรียมขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น กรณีโลกขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นสิ่งที่อยากส่งข้อความไปกับภาคธุรกิจว่า แม้ว่า เมืองไทยดอกเบี้ยจะต่ำ แต่ต้นทุนดอกเบี้ยโลกอาจสู่ทิศทางเพิ่มขึ้น