'เตียงเต็ม-แพทย์ติดเชื้อ-ไม่มีวัคซีน' วิกฤติ 'โรงพยาบาล' ไร้อาวุธสู้โควิด

'เตียงเต็ม-แพทย์ติดเชื้อ-ไม่มีวัคซีน' วิกฤติ 'โรงพยาบาล' ไร้อาวุธสู้โควิด

'รพ.ธรรมศาสตร์' และ 'รพ.สนามธรรมศาสตร์' อีกหนึ่ง 'โรงพยาบาล'ที่มีการดูแล 'ผู้ป่วยโควิด 19' ทุกกลุ่มทั้งกลุ่มสีแดง สีเหลืองและสีเขียว ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบการณ์ภาวะ 'เตียงเต็ม-แพทย์ติดเชื้อ-ไม่มีวัคซีน' ช่วยผู้ป่วย

ไม่ต้องรอให้ยอด ‘ผู้ป่วยรายใหม่’ ถึง 3 หมื่นกว่ารายต่อวัน เพียงทุกวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันละ 1 หมื่นกว่าราย ก็ทำให้โควิด 19 ในไทยวิกฤตแล้ววิกฤตอีกโดยเฉพาะใน พื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ ล็อกดาวน์ ที่ตอนนี้เตียง ไอซียูในรพ.ต่างๆ เต็มทุกพื้นที่ ต้องส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาของตนเอง

แถมมีเรื่องเศร้ารายวันให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยโควิด 19 นอนรอเตียงที่บ้านจนตาย นอนตายข้างถนน หรือต้องไปนอนรอตามฟุตบาทเพื่อให้ได้เข้า ตรวจโควิด 19 รวมถึงพิษเศรษฐกิจที่ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องคิดสั้น ฆ่าตัวตาย

พื้นที่กทม.และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มี ผู้ป่วยรายใหม่ ในแต่ละวันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ กทม.ที่ขณะนี้เรียกได้ว่า เกือบทุกโรงพยาบาลต้องปฎิเสธ รับผู้ป่วยโควิด 19

   

  • 'รพ.ธรรมศาสตร์ฯ'-'รพ.สนามธรรมศาสตร์' เตียง ไอซียูเต็มต้องปฎิเสธรับผู้ป่วยโควิด

สำหรับ สถานการณ์เตียงของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.2564 พบว่ามีเตียงทั้งหมด 36,457 เตียง ครองเตียง 35,045 เตียง เตียงว่าง 1,412 เตียง อัตราการครองเตียง96.1

แบ่งเป็นประเภทเตียง ดังนี้

เตียง AIIR-ICU ห้องความดันลบ มีทั้งหมด 296 เตียง ครองเตียง 326 เตียง เตียงว่าง -30 เตียง อัตราครองเตียง 110.1

Modified AIIR มีทั้งหมด 571 เตียง ครองเตียง 799 เตียง เตียงว่าง -228 เตียง อัตราครองเตียง139.9

Cohort ICU ห้องไอซียูรวม มีทั้งหมด 394 เตียง ครองเตียง 366 เตียง เตียงว่าง 28 เตียง อัตราครองเตียง 92.9

162701204876

Isolated room ห้องแยก มีทั้งหมด 4,339 เตียง ครองเตียง 4,429เตียง เตียงว่าง -90 เตียง อัตราครองเตียง 102.1

Cohort ward ห้องสามัญ มีเตียงทั้งหมด 11,292 เตียง ครองเตียง 11,416 เตียง เตียงว่าง -124 เตียง อัตราครองเตียง 101.1

Hospitel มีเตียงทั้งหมด 15,402 เตียง ครองเตียง 14,137 เตียง เตียงว่าง 1,265 เตียง อัตราครองเตียง 91.8

เตียงสนาม มีเตียงทั้งหมด 4,163 เตียง ครองเตียง 3,572 เตียง เตียงว่าง 591 เตียง อัตราครองเตียง 96.1

ส่วนตียงในโรงพยาบาลสนาม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่า เตียงทั้งหมด12,211 เตียง ขณะนี้เหลือเตียง ประมาณ 5,213 เตียงเท่านั้นที่จะรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลหลัก และ โรงพยาบาลสนามในพื้นที่กทม.และปริมณฑล บางแห่งเตียงเต็มแล้ว ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ อย่าง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เตียงห้องไอซียูเต็มหมดแล้ว หรือ รพ.สนามธรรมศาสตร์ เตียงเต็มทั้ง 470 เตียง เป็นต้น

  • ไร้อาวุธป้องกันโควิด 'เตียงเต็ม' แพทย์ติดเชื้อ วัคซีนไม่มี

การดูแลรักษา ผู้ป่วยโควิด 19 ในสถานการณ์ที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่ มากกว่าที่บุคลากรทางการแพทย์ ‘ด่านหน้า’ จะรับไหว แต่ตอนนี้แม้จะเหนื่อยล้า เตียง ห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนามจะเต็มไปด้วยผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากผู้ป่วยจำนวนมาก และวัคซีนก็เริ่มไม่มีฉีดให้แก่ประชาชน เหล่าทีมด่านหน้า ยังคงทุ่มเทดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่

ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ จำนวนมาก กว่าศักยภาพแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหลัก อย่าง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หรือ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่เตียงเต็มทุกเตียง ห้องไอซียูไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้อีกแล้ว

162701206516

ก่อนหน้านี้ ในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จะรับผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก จำนวน 470 เตียง แต่ตอนนี้ผู้ป่วยที่รับเข้ารพ.สนามธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้ป่วยสีเหลืองทั้งหมด และเต็มทุกเตียง ขณะที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นพ.หลัก ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีแดง ประมาณ 90 เตียง ปัจจุบันเตียงเต็ม ห้องไอซียูแน่น รวมถึงห้องฉุกเฉิน จนไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด 19 และผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคโควิด 19ได้

  • เปิด Home Isolation รองรับผู้ป่วยสีเขียว 200 คน

“ตอนนี้รพ.หลัก รพ.สนาม แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ วิกฤตไปหมด เพราะต่อให้มีแผนรองรับอย่างเต็มที่ แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องเศร้าใจที่ทางรพ.ต้องปฎิเสธเตียงที่จะรองรับผู้ป่วย เนื่องจากรพ.พยายามหาเตียงสุดกำลัง แต่ไม่มีเตียงรองรับจริงๆ โดยทุกๆ วันจะมีผู้ป่วยโควิด เข้ามารพ.ประมาณ40-50ราย และถ้าเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ไม่แสดงอาการ หรืออาการน้อย ก็ให้เข้าร่วมมาตรการ Home Isolation แต่ก็รับได้จำนวนจำกัด ประมาณ 200 รายซึ่งขณะนี้ก็เต็มจำนวนแล้วเช่นกัน”ผศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าว

162701208634

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีแพทย์ประมาณ 500-600 คน มีบุคลากรทางการแพทย์ 3,000-4,000 คน และตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วยโควิด 19 รวมถึงเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจโควิด 19 ฉีดวัคซีนโควิด 19 และดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 19 อย่าง Home Isolation

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ออกหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ 'ท่อช่วยหายใจ' แก่ 'ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19'

                    รพ.ธรรมศาสตร์ฯงดให้บริการ 'ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน' 22-24 ก.ค.นี้

                    รพ.ธรรมศาสตร์เผย 'ห้องเก็บศพเต็ม-วัคซีนหมด' 

  • เชื่ออีก 1-2 สัปดาห์ 'ผู้ป่วยรายใหม่'หมื่นรายต่อวัน ระบบสธ.วิกฤตสุดๆ

ผศ.ดร.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า รพ.เรามีระบบการดูแลครบวงจรในกลุ่มผู้ป่วยทุกกลุ่ม แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่เพิ่มจำนวนทุกวัน ตอนนี้นอกจากผู้ป่วยโควิด 19 จะลำบากแล้ว ผู้ป่วยโรคปกติก็เริ่มลำบากเช่นเดียวกัน กลุ่มคนไข้ที่ต้องใช้ห้องผ่าตัด คนไข้ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลไม่สามารถรับได้ เพราะบุคลากรทุกภาคส่วนต้องมาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ หรือห้องที่จะรองรับผู้ป่วยทั่วไป

ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ ของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เอง ติดโควิด 19 จากผู้ป่วยประมาณ 72 ราย และต้องกักตัวให้ครบอีก 14 วันอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ในการดูแล ผู้ป่วยโควิด 19 น้อยลงมาก และหลายคนเริ่มล้า เริ่มไม่ไหว ถึงจะพยายามอย่างเต็มที่ เติมกำลังใจให้แก่กัน แต่การที่ไม่สามารถคุมเคสใหม่ๆ ได้ ด้วยระยะเวลาสถานการณ์ที่ยาวนาน แพทย์และ บุคลากรทางการแพทย์ เริ่มไม่พอและไม่ไหว

162701210331

ผศ.ดร.ฉัตรชัย กล่าวต่อด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่ 1 หมื่นกว่ารายต่อวัน และในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ พบว่า 70 % จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 20 % เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว และ 5% เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีแดง ซึ่งมีผู้ที่ต้องเข้าห้องไอซียูวันละ 100 ราย

  • นะทางรอดต้อง 'ล็อกดาวน์' 100% ฉีดวัคซีนพื้นที่สีแดงให้ได้50%

ขณะที่ เตียงไอซียู ในรพ.ต่างมีเพียง 500-600 เตียง ฉะนั้น ต่อให้ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 30,000 กว่ารายต่อวัน แต่ถ้ามี ผู้ป่วยรายใหม่ 10,000 กว่ารายต่อวัน ติดต่อกันอีก 1- 2 สัปดาห์ ก็จะเข้าขั้นวิกฤตสุดๆ แล้ว และมาตรการล็อกดาวน์ ก็ไม่สามารถลดการแพร่ระบาดหรือคุมสถานการณ์โควิด 19 ได้ แต่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในครอบครัวมากขึ้น

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือ คุมเคสใหม่ให้ได้ ผมเคยเสนอยุทธศาสตร์พุ่งเป้า โดยต้องโฟกัสในจุดวิกฤตของประเทศ การกำหนดสีพื้นที่เพื่อจัดการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ในกระบวนการทำงานจริงไม่ได้ทำตามที่ตั้งไว้ ขณะนี้มีตัวเลขที่ระบาดจำนวนมาก และจะอยู่โซนกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งมีกลุ่มคนไข้เกิน 50% ของคนไข้ทั้งหมด”ผศ.ดร.ฉัตรชัย กล่าว

162701215167

ดังนั้น มาตรการหลักในพื้นที่สีแดงเข้มจะต้องล็อกดาวน์100% และฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้ได้ 50% เพราะต่อให้ล็อกดาวน์ 100% แต่ไม่มีการระดมฉีดวัคซีน พอหมดล็อกดาวน์ เชื้อก็กระจายเหมือนเดิม มี ผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้นเหมือนเดิม ขณะที่ในโรงงาน ภาคเอกชน ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% หากทุกคนมีภูมิคุ้มกัน ก็จะสามารถลดเคสใหม่ๆ ได้

ด้วยเหตุการณ์เศร้าใจที่เกิดขึ้นรายวัน อาจทำให้หลายคนเกิดความท้อใจ และหดหู่ ผศ.ดร.ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้มีข้อมูลข่าวสารและเรื่องเศร้าให้เห็นทุกคน อยากให้ทุกคนตั้งสติ และช่วยกันป้องกันตนเอง เพราะหากไม่มีวัคซีน

สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือ ดูแลป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือทุกครั้งแม้จะอยู่ในบ้านก็ต้องดูแลตัวเอง เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว คนที่ออกไปทำงานนอกบ้านเมื่อกลับบ้านให้ระลึกเสมอว่าเรามีความเสี่ยง ต้องใส่หน้ากากขณะพูดคุย ล้างมือทุกครั้ง และต้องแยกตัวเอง หากมีอาการ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่รพ.ต่างๆ

ภาพจากเพจ รพ.สนามธรรมศาสตร์