เมื่อกฎหมาย 'ฉบับประชาชน' ไม่ผ่านด่าน 'นักการเมือง'

เมื่อกฎหมาย 'ฉบับประชาชน' ไม่ผ่านด่าน 'นักการเมือง'

โจทย์การปฏิรูปประเทศ ที่จัดลำดับความสำคัญต้นๆ นอกจาก "การเมือง" แล้ว คือ "ปฏิรูปกฎหมาย" โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ ความเป็นจริง พบว่า กฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ยากจะผ่านด่าน "สภาฯ" หากไม่ใช่วาระของนักการเมือง

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแบบให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดหลักการและกลไกสำคัญไว้หลายประเด็น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

โดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 กำหนดหลักเกณฑ์และกลไกในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้กฎหมายเป็น “กฎหมายที่ดี” และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคม

ที่สำคัญ คือเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนอกฎหมาย มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ติดตามตรวจสอบขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมาย ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย รวมทั้งการกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายที่เสนอโดยประชาชน กลับไม่สามารถผ่านด่านไปได้ง่ายๆ หากไม่ใช่วาระ(นัก)การเมือง

ล่าสุด กลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยรายงานความคืบหน้าของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนในเดือนกรกฎาคม 2564 มีร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนรวม 59 ฉบับ โดยมีรายละเอียดคือร่างกฎหมายที่รัฐสภาพิจารณาแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่งรัฐสภาตีตกไปแล้ว และ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

ร่างกฎหมายที่ประธานสภาฯ สั่งบรรจุวาระ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เสนอโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์

ร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ 2 ฉบับ คือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในนามกลุ่มรีโซลูชั่น เสนอ และ ร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ... ที่มีนายศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอ

162640038971

ทั้งนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ. 7 ฉบับที่เสนอโดยประชาชน แต่อยู่ระหว่างการให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน และจัดให้มีการรับฟังความเห็นไปพร้อมกัน ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.อนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ....

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชน แต่นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ. ที่ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่อง 9 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.พืชเสพติดให้คุณทางการแพทย์ เพราะผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายมีไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ร่าง พ.ร.บ.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะหลักการของร่างกฎหมายไม่เป็นไปตามหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารองค์การศาสนาอิสลาม (ฉบับที่...) พ.ศ....ร่างพ.ร.บ.ธนาคารอิสลาม ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ส่วนร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการจัดให้มีการเข้าชื่อ จำนวน 18 ฉบับ ร่างที่ประธานรัฐสภาวินิจฉัยให้ปรับปรุง 7 ฉบับ ร่างกฎหมายที่มีผู้ยื่นคำร้องขอเข้าชื่อ 6 ฉบับ และผู้ริเริ่มขอถอน 1 ฉบับ

162640021883

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ที่ ส.ส.เสนอ และบรรจุไว้ในระเบียบวาระประชุมสภาฯ เพื่อรอการพิจารณามี 33 ฉบับ แบ่งเป็น พรรคก้าวไกล 11 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 9 ฉบับ พรรคภูมิใจไทย 4 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 4 ฉบับ พรรคประชาชาติ 2 ฉบับ พรรคพลังประชารัฐ 2 ฉบับ และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 ฉบับ

โดยมีร่างกฎหมายที่ถูกส่งต่อมาจากการประชุมสภาฯ ในปีที่หมดสมัยไปแล้ว จำนวนมาก อาทิ ร่างกฎหมายที่ค้างมาจากวาระประชุมสภาฯ ปีที่ 2 จำนวน 7 ฉบับ และมีบางฉบับ ที่ผู้นำเสนอได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปแล้ว

ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ...​ ที่นำยื่น โดย  วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ลาออกจากส.ส. หรือ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. พ.ศ.... เสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะส.ส.ก้าวไกล ที่ค้างมาจากการประชุมสภาฯ ปีที่ 2 ครั้งที่ 7 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายที่ ส.ส.เสนอนั้น พบว่าเป็นร่างกฎหมายที่ค้างมาจากการประชุมสภาฯ ในปีที่ผ่านๆ มา และยังมีร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ ส.ส. ฝ่ายค้าน - ฝ่ายรัฐบาล เสนอ รวม 4 ฉบับ 4 ประเด็นรวมอยู่ด้วย

สำหรับสถิติของสภาฯ​ ตั้งแต่การมีอยู่ของ “สภาผู้แทนราษฎร”ชุดปัจจุบัน หรือ ภายใต้การบริหารของ “รัฐบาล - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อนุกรรมการจัดทำฐานข้อมูลวิชาการ และกฎหมายของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ระบุว่า กฎหมายปกติ 26 ฉบับ แบ่งเป็น ผ่านพิจารณาและบังคับใช้แล้ว 15 ฉบับ รอพิจารณาวาระแรกของสภาฯ 2 ฉบับ อยู่ระหว่างกรรมาธิการ สภาฯ พิจารณา 5 ฉบับ กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว รอสภาฯพิจารณาวาระสองและวาระสาม 2 ฉบับ และอยู่ระหว่างวุฒิสภาดำเนินการ 2 ฉบับ

162640073245

ร่างกฎหมายตามหมวดการปฏิรูปประเทศ 8 ฉบับ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และรอประกาศใช้ 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ประกาศใช้แล้ว 3 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมกัน 4 ฉบับ

จะเห็นได้ว่า ผลงานของสภาฯ ต่อการพิจารณา“ร่างกฎหมาย” มีความต่างที่เห็นได้ชัด คือร่างกฎหมายที่เป็นของ “รัฐบาล” จะผ่านการพิจารณาในชั้นวาระรับหลักการ และสามารถผ่านเป็นกฎหมายได้ในเวลาไม่ช้า

ขณะที่ร่างกฎหมายของ “ตัวแทนประชาชน” หรือ “ภาคประชาชน”ที่ต้องการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อปลดล็อคปัญหาที่การปฏิบัติระดับปกติทำไม่ได้ จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย แต่กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า.