GPSC ทุ่ม1.6 หมื่นล้าน ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมไต้หวัน

GPSC ทุ่ม1.6 หมื่นล้าน ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมไต้หวัน

"จีพีเอสซี" ทุ่มงบ 1.6หมื่นล้าน ถือหุ้น 25% โรงไฟฟ้าพลังงานลมไต้หวัน กำลังการผลิต 595 เมกะวัตต์ ดันพอร์ตพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 2,294 เมกะวัตต์

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แจ้งว่าบริษัทย่อย บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) เพื่อเข้าลงทุนในสัดส่วน 25% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน จากกองทุน Copenhagen Infrastructure II K/S (CI-II) และ Copenhagen Infrastructure III K/S (CI-III) ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ CIP 

โครงการดังกล่าวมีกำลังผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี กับ บริษัท Taiwan Power Company ซึ่งการเข้าลงทุนในครั้งนี้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้กับ GPSC อีก 149 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25% ส่งผลให้บริษัทมีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์ 

ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ และกระจายแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกให้มีความหลากหลาย ยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในต่างประเทศ ที่สร้างโอกาสและขยายลงทุนตามกลยุทธ์การเติบโตด้านพลังงานทดแทนในกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป

โดยแผนพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งดังกล่าว กำหนดแผนการติดตั้งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2565 จำนวน 96 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 คาดจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2566 จำนวน 499 เมกะวัตต์ นับเป็นโครงการขนาดใหญ่สามารถจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมได้มากกว่า 600,000 ครัวเรือน โดยทั้งโครงการจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

ทั้งนี้ GPSC มองว่าไต้หวันถือเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชั้นนำของโลก และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สะท้อนผ่านอัตราการใช้พลังงานทางเลือกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าว จะต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Approval) และขออนุมัติจาก Ministry of Economic Affairs ของไต้หวันต่อไป โดยหลังจากการซื้อขายหุ้น CI-II และ C-III ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการ CFXD