เร่งจัดหา 'วัคซีนโควิด-19' หลัง แอสตร้าฯ 61 ล้านโดส เลื่อนส่ง พ.ค. ปีหน้า

เร่งจัดหา 'วัคซีนโควิด-19' หลัง แอสตร้าฯ 61 ล้านโดส เลื่อนส่ง พ.ค. ปีหน้า

'สถาบันวัคซีนแห่งชาติ' เผย เร่งเจรจาวัคซีนโควิด-19 'โปรตีนซับยูนิต' และรูปแบบอื่นเพิ่มเติม หลัง 'แอสตร้าเซนเนก้า' เลื่อนส่งมอบ 61 ล้านโดส จาก ธ.ค. ปีนี้ ไปช่วง พ.ค. ปีหน้า

วันนี้ (15 ก.ค. 64) “นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในงาน สัมมนาวัคซีนโควิดฟื้นเศรษฐกิจไทยยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ ความหวังของคนไทย? โดย เนชั่นทีวี ในประเด็นดังกล่าวว่า จากความคาดหวังเดิมที่จะได้รับวัคซีนจาก แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสในปีนี้ เพิ่งได้รับจดหมายจากแอสตร้าฯ ว่า จะส่งมอบได้ตามกำลังการผลิตที่มีซึ่งอยู่ในระดับ 15-16 ล้านโดสต่อเดือน เพราะเป็นช่วงแรกของการผลิต การส่งมอบจึงจะดำเนินการที่ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต อยู่ที่ราว 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทางสยามไบโอไซเอนซ์ และ แอสต้าฯ ก็หาทางเพิ่มกำลังการผลิต และทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รับฟังสถานการณ์ร่วมกัน และรับทราบข้อจำกัดต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มเติม

ประเด็นคำถามที่ว่า เราจะสามารถจำกัดการส่งออกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะเป็นการตัดสินใจร่วมกัน เป็นการเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน การผลิตวัคซีนเป็นการผลิตและใช้ไปไม่ได้มีสต็อก และในสถานการณ์ที่มีความต้องการวัคซีนทั่วโลก ในประเทศอื่นๆ ก็ประสบภาวะขาดแคลนอยู่

ขณะนี้ ไฟเซอร์ ก็ได้มีการเจรจาไว้ ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำ ซิโนฟาร์ม เข้ามาเสริม และซิโนแวค ยังจำเป็นที่ใช้ในสถานการณ์ที่ยังขาดแคลน นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้พยายามเจรจาจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่นๆ เช่น โปรตีนซับยูนิต ในหลายบริษัท เพื่อจัดหาเพิ่มเติม นำมาใช้ในปีนี้และปีหน้า

 

  • แนวทางจัดหาวัคซีน ปี 2565  

ทั้งนี้ แนวทางการจัดหา 'วัคซีนโควิด-19' สำหรับประชากรไทยในปี 2565 ได้แก่

1. การจัดหาวัคซีนในกรอบ 120 ล้านโดส โดยเร่งรัดเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มากรกลายพันธุ์ โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565

2. การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต โดยเร่งรัดการแสวงหาความร่มมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจาก ไวรัลเวคเตอร์ เช่น วัคซีนเชื้อตาย และ mRNA

 

3. การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ โดยสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่น ประเทศอินเดีย

4. ในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย รวมถึงติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 อย่างใกล้ชิด และ ติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์

“การผลิตวัคซีนในประเทศ ค่อนข้างมั่นใจว่าผลิตได้ แต่มากพอหรือไม่ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการผลิตในจำนวนมากต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ ขณะนี้จึงมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตควบคู่กันไปด้วย”  นพ.นคร กล่าว