'ศรีสุวรรณ' ร้อง 'รมว.ยุติธรรม' เร่งขยายผลสอบ 152 องค์กรผู้บริโภคทิพย์

'ศรีสุวรรณ' ร้อง 'รมว.ยุติธรรม' เร่งขยายผลสอบ 152 องค์กรผู้บริโภคทิพย์

'ศรีสุวรรณ' ตั้งข้อสังเกตุ องค์กรผู้บริโภค 152 องค์กรลงชื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค มีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ 

14 ก.ค.2564 ที่กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กรที่เข้าชื่อกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น มีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ 

เนื่องจากเป็นที่สงสัยว่าองค์กรเหล่านี้บางองค์กรอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือไม่ จึงได้ทำการสุ่มตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคตามบัญชีรายชื่อที่ สปน.ประกาศในระดับจังหวัด ก็พบว่า องค์กรผู้บริโภคที่แจ้งไว้กับทางราชการนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเลย และเมื่อตรวจสอบเชิงลึกโดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน ก็พบว่าหลายองค์กรไม่มีที่ตั้งตามที่แจ้งไว้ หรือไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้จักเลย ซ้ำร้ายกว่านั้นที่อยู่ที่จดแจ้ง ในทะเบียนราษฎร์ไม่มีเลขที่นี้ในสารบบเลย บางองค์กรไม่มีที่ตั้ง ไม่มีคนที่อ้างว่าเป็นประธานเครือข่ายอยู่ในพื้นที่เลย อาจถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตาม ม.6 ประกอบ ม.5 ของกฎหมายข้างต้น จึงได้ทำบันทึก ถ่ายรูป อัดคลิปเสียงของผู้ให้ข้อมูล และนำหลักฐานทั้งหมดมามอบให้กระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลสอบ 152 องค์กรต่อไป       

ทั้งนี้ ตาม ม.5 แห่งพรบ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 กำหนดไว้ว่า การที่จะใช้สิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆจะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อมีการสุ่มตรวจบางองค์กรก็พบความจริงว่ากว่า 16 องค์กร ไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือก็อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมมีศักยภาพในการตรวจสอบทุกองค์กรได้     

 นอกจากนั้น หากการสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า องค์กรใดไม่มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ที่ร่วมจัดตั้งและผู้ที่เข้าชื่อเสนอนายทะเบียนย่อมเข้าข่าย “แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่รัฐ” ตาม ป.อ.มาตรา 137 ที่บัญญัติไว้ความว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”            

สมาคมฯ จึงนำความมาร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อเอาผิดบุคคลและหรือองค์กรผู้บริโภคนั้น ๆ และถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์ อาจถือเป็น “โมฆะ” ตามกฎหมาย การทำนิติกรรมใดๆขององค์กรดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะและจะกระทำมิได้ด้วย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด.