ธุรกิจหนังสืออ่อนแรง หน้าร้านปิด  อีเวนท์งด ไร้ยอดขาย แบกต้นทุนกระอัก  

ธุรกิจหนังสืออ่อนแรง หน้าร้านปิด  อีเวนท์งด ไร้ยอดขาย แบกต้นทุนกระอัก  

โควิด-19 ระบาดข้ามปี มาตรการล็อกดาวน์ถูกนำมาใช้อีกครั้ง กระทบงานอีเวนท์ มหกรรมสัปดาห์หนังสือแหง่ชาติงดจัด สำนักพิมพ์ระส่ำหนักขึ้น จับตาผู้ประกอบการรายย่อย กัดฟันอดทนถึงสิ้นปีไหวไหม

เพียง 7 วัน ก่อนเริ่มมหกรรมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 19 จะเริ่มขึ้นเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ต้องยุติการจัดงาน ขาดโอกาสทำรายได้ 200 ล้านบาท คนเข้าชมงานที่อยากเห็น 1.6-1.8 ล้านราย ผลพวงจากโรคโควิด-19 ระบาดรอบ 3 และลากยาวจนถึงปัจจุบัน

งานใหญ่ที่สำนักพิมพ์ ร้านเครือข่ายขาย จะขนหนังสือปกเก่า-ใหม่ที่เคยมีร่วม 9,000-10,000 ปก ออกมาเอาใจนักอ่าน ที่หวังจะมีรายได้เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ เมื่อทุกอย่างพังครืน ทำให้ปีนี้ต้องลุ้นผู้ประกอบการขนาดเล็กจะยืนหยัดสู้วิกฤติโรคระบาดไหวหรือไม่ 

โชนรังสี  เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (Pubat) ฉายภาพภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือปี 2564 เดิมคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวจากปีก่อน และกลับมาเติบโต 20-25% เม็ดเงินจะพัดหลัก 15,000 ล้านบาท แต่โรคระบาดดับฝันผู้ประกอบการ และยังเป็นตัวแปรฉุดตัวเลขตลาดให้หดตัวลง 30-40%” หรือเม็ดเงินจะกลับไปอยู่จุดต่ำ 11,000-12,000 ล้านบาทอีกครั้ง

ขณะที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติทำเงินก้อนโต แต่เมื่อจัดไม่ได้ตัวเลขจึงหายไปหลักร้อยล้านบาท ผลกระทบไม่ได้เกิดแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะงดจัดเรียบร้อย แต่ยังลามไปต่างจังหวัดด้วย เดิมสมาคมฯจะมีการกระะจายจัดงานไปยังหัวเมืองใหญ่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี และหาดใหญ่ ล่าสุดงดไป 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ และอุบลฯ ความหวังทำเงินของสำนักพิมพ์จึงหายไปเรื่อยๆ

สมาคมฯ มีสมาชิกกว่า 400 ราย ทุกครั้งที่มีงานใหญ่ สำนักพิมพ์จะลงทุนพิมพ์หนังสือ สร้างสรรค์คอนเทนท์มาตอบโจทย์หนอนหนังสือ ต้นฉบับในมือที่ผลิตออกมาแล้ว เป็น ต้นทุนเดิม ยังไม่ได้ขายส่งต่อถึงผู้บริโภค จึงกลายเป็นแบกภาระก้อนใหญ่ไม่น้อย ส่วนความหวังกำลังซื้อของผู้บริโภค นาทีนี้ พึ่งพายากเช่นกัน เพราะผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย เลือกจับจ่ายกับสินค้าจำเป็น จะซื้อหนังสือต้องรอให้มีโปรโมชั่น หรือ “ลดราคา” จึงจะจูงใจให้ควักเงินซื้อได้

สถานการณ์รายได้เงินสดเข้าบริษัทลดลง จึงน่าเป็นห่วง หากโควิด-19 ยืดเยื้อ มาตรการล็อกดาวน์สกัดเชื้อไวรัส จำนวนผู้ป่วยยังมีผลต่อความเชื่อมั่นในการออกจากบ้านมาใช้จ่ายซื้อหนังสือ จะทำให้ผู้ประกอบการอาจไม่รอดถึงปลายปี เพราะส่วนใหญ่สมาชิก 70-80% ล้วนเป็นรายเล็กทั้งสิ้น สมาชิกกลุ่มย่อยกระเทือน และกระทบชิ่งถึงเครือข่ายร้านหนังสือรายใหญ่อีกทอด กลายเป็นซ้ำเติมให้อุตสาหกรรมเข้าขั้นโคม่า!

รายย่อยสายป่านน้อย ปีก่อนเราจัดงานหนังสือได้เดือนตุลาคม ทำให้ผู้ประกอบการมียอดขายกลับมาบ้าง แต่เมื่อห้างร้านถูกปิดๆเปิดๆ การล็อกดาวน์แบบไม่ล็อก ทำให้ยอดขายจากร้านเครือข่ายเหนื่อย สำนักพิมพ์ย่อยกระทบ และชิ่งถึงเครือข่ายร้านรายใหญ่ หากรายย่อยยืนระยะไม่ได้ รายใหญ่ย่อมอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ 14 วัน ในพื้นที่ 10 จังหวัด ส่งผลต่อช่องทางจำหน่ายหนังสือในห้างค้าปลีกต้องปิดลง 2.งานแฟร์ย่อยที่จะจัดไม่สามารถทำได้ รวมถึงงานแฟร์ใหญ่ด้วย ทำให้เม็ดเงินหายหลายร้อยล้าน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของผู้ประกอบการบางส่วนนำหนังสือไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ บางรายยังไม่ตั้งหลักซึ่งจะเหนื่อยหนักกว่ารายอื่น น่าห่วงอย่างยิ่ง

ล็อกดาวน์ 14 วัน คนทำธุรกิจหนังสือได้รับผลกระทบเหมือนเอสเอ็มอีรายอื่น เราเริ่ม่อนแรง เหมือนคนเป็นไข้สาหัสจ่อเข้าไอซียู หลายคนเข้าไอซียูหลังออกจากจะฟื้นธุรกิจกลับมาได้หรือไม่ ยังต้องขึ้นอยู่กับกลไกการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งลดค่าใช้จ่าย 100% ลดต้นและดอกเบี้ยจากการขอสินเชื่อให้กับรายเดิม ส่วนรายที่ไม่เคยขอสินเชื่อควรมีมาตรการดอกเบี้ย 0% เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการยืนระยะ 6-12 เดือน ถ้าไม่ช่วยเหนื่อย เพราะธุรกิจหนังสือไม่ได้มีแค่ผลกระทบจากโควิด-19 แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเสพสื่อออนไลน์กระทบตลาดมาหลายปีแล้ว

งานแรกของปีงดไปแล้ว ส่วนงานสัปดาห์หนังสือที่จะจัดขึ้นเดือนตุลาคมนี้ ยังต้องลุ้นแบบรายวัน โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้มากน้อยเพียงใดหลังงัดมาตรการเข้มล็อกดาวน์มาใช้แล้ว ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อ ความเชื่อมั่นของประชาชน ในการออกมาจับจ่ายใช้สอย ความพร้อมในการเดินพื้นที่สาธารณะ ร่วมแฟร์ต่างๆ ขณะที่สำนักพิมพ์ทุกราย ยืนยันว่ามีความพร้อมมากในการกลับไปจัดงานออกบู๊ทขายหนังสือ เตรียมหนังสือใหม่ และจัดโปรโมชั่นดีๆเอาใจนักอ่านอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อการควบคุมโรคระบาดเป็นตัวแปรต่อการจัดงาน หากไม่สามารถทำได้ การจัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยังคงเป็นทางออกให้ผู้ประกอบการ แม้ว่าจะขาดเสน่ห์ เพราะผู้บริโภคไม่ได้พบปะนักเขียน สำนักพิมพ์โปรด แต่ยังทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสสร้างรายได้บ้าง รวมถึงการจัดงานในร้านหนังสือต่างๆ หรือแบบ Shop in Shop แม้จะไม่สามารถทดแทนรายได้จากงานแฟร์ หรือระบบซัพพลายเชนมาตรฐานเดิมที่ซื้อขายผ่านร้านหนังสือ ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา รัฐให้งบประมาณการจัดสรรหนังสือเข้าห้องสมุดกระทบธุรกิจหนังสือมา 5-6 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหนังสือต้องต่อกรกับไวรัสอย่างหนัก แต่อีกมิติดิจิทัล ดิสรัปชั่นยังถาโถม แต่สิ่งที่ต่างคือโควิดเร่งให้ผู้ประกอบการต้องมุ่งแพลตฟอร์ม ออนไลน์อีคอมเมิร์ซจริงจัง ไม่มีช่องทางดังกล่าวเพื่่อเข้าถึงผู้บริโภคไม่ได้แล้ว

โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เข้าสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น ส่วนดิจิทัล ดิสรัปชั่นที่ผ่านมาเหมือนเราชกบนสังเวียน อาจโดนหมัดทำให้มึนๆบ้าง แต่โควิดกระทบเราเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว รัฐจะให้ยาช่วยเหลือฟื้นผู้ประกอบการอย่างไร

ปี 2563-2564 อุตสาหกรรมหนังสือกระทบจากโรคโควิด-19 เงินในกระเป๋าลด สะเทือนพฤติกรรมการซื้อหนังสือไปอ่าน แต่ตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ กลับพบสถิติการขายหนังสือ และการอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่ง โชนรังสี” วิเคราะห์ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพอากาศหนาว ทำให้ประชาชนอยู่บ้าน พฤติกรรมและวัฒนธรรมการอ่านจึงสอดคล้องกับการอยู่บ้านด้วย

ต่างประเทศยอดขายหนังสือเล่มดีขึ้น สำนักพิมพ์มีการสั่งผลิตหนังสือใหม่อย่างต่อเนื่อง หากโควิดคลี่คลายคาดว่าแนวโน้มยังคงเติบโต ส่วนในไทยผู้บริโภคคงใช้จ่ายเงินกับสินค้าจำเป็นมากกว่าหนังสือ ท่ามกลางวิกฤติ การที่ผู้ประกอบการจะกัดฟันถึงสิ้นปี ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก