‘ไดเอทซ์’ เทเลเมดิซีน เชื่อมหมอ-คนไข้เมื่ออยู่ไกล

‘ไดเอทซ์’ เทเลเมดิซีน เชื่อมหมอ-คนไข้เมื่ออยู่ไกล

แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่วิกฤติโควิดผลักดันให้ “เทเลเมดิซีน” ติดลมบนในโลกธุรกิจและกลายเป็นเมกะเทรนด์โลก บรรดาสตาร์ทอัพและโรงพยาบาลต่างชิงโอกาสทยอยเปิดบริการ เช่นกันกับ“ไดเอทซ์"เทเลเมดิซีนสัญชาติไทยปักหมุดเป็นเครื่องมือช่วยสถานพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

“ผลงานที่ผ่านมาได้ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดในหลายพื้นที่ ถือว่าเป็นแห่งแรกในโรงพยาบาลรัฐ ผ่านการจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกล ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และกำลังจะกระจายทั่วประเทศ อีกทั้งการใช้งานในการดูแลผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลตากสินและ Hospitel และปัจจุบันได้ช่วยเหลือโรงพยาบาลสนาม 10 แห่ง รวม 1,200 เตียง” พงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด หรือ Dietz.asia กล่าว

ยกระดับการติดตามผู้ป่วย

162610082324

พงษ์ชัย กล่าวว่า จุดเริ่มธุรกิจมาจากการที่คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรังและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก จึงเป็นเหตุผลให้เขาและเพื่อนสนใจพัฒนา “ระบบทางการแพทย์” ที่สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยโรคเรื้อรังตลอดจนการช่วยดูแลรักษา กระทั่งปี 2561 ประเดิมระบบด้วยการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและขยายสู่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน พร้อมกับตั้งบริษัทเมื่อปลายปี 2563

“ไดเอทซ์จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยการที่ผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลอาการ หรือ ผลการตรวจวัดที่บ้าน เข้าสู่ระบบโดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ยาที่ใช้ อาหารที่รับประทาน เป็นต้น ทีมงานของโรงพยาบาลได้ปรับการดูแลเป็นแบบสหวิชาชีพ ประกอบด้วย พยาบาล นักกำหนดอาหาร เภสัชกร และ แพทย์ สามารถดูข้อมูลและให้คำแนะนำในการดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลของคนไข้ ลดการรอคอย ลดความแออัด ปรึกษาผ่านระบบได้สะดวก เป็นระบบมากขึ้น ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ในการรับคำปรึกษาจากแพทย์”

162616126995

162610085475

ทำไมจะต้องเป็นแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีน? พงษ์ชัย ขยายความว่า แนวโน้มการรักษาในภาวะวิกฤติโควิดและในอนาคตทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะเป็นแบบ Hospital at home หรือ at office ปัจจุบันวงการแพทย์ของไทยได้ยอมรับเทเลเมดิซีนในการรักษาพยาบาลหรือให้คำปรึกษา โดยมีมาตรฐานการดำเนินงานของแพทยสภา สภาวิชาชีพต่างๆ รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขมารองรับ ทำให้อนาคตจะมีการขยายจนกลายเป็นนิวนอร์มอลเหมือนในหลายๆประเทศ

พงษ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ขนาดตลาดพิจารณาจากข้อมูลการสำรวจธุรกิจโรงพยาบาล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2560) ที่ระบุว่า ผู้ป่วยนอกที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชนรวมค่าใช้จ่าย 8.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลของรัฐ รวมเป็นประมาณ 9 หมื่นล้านบาทต่อปี บริษัทจึงตั้งเป้าสัดส่วนไว้ที่ 10% ดังนั้นรายได้คาดหวังจะอยู่ที่ 9 พันบาทล้านต่อปี

“ดังนั้น จำนวนสถานพยาบาลของรัฐที่เป็นเป้าหมายประมาณ 1,000 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 300 แห่ง คลินิกเอกชน 2 หมื่นแห่ง และองค์กรที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไปประมาณ 1.5 หมื่นแห่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลและองค์กรใช้งานระบบประมาณ 50 แห่ง จำนวนผู้ใช้ราว 1 หมื่นคน ปีนี้จะขยายให้ได้ประมาณ 100 แห่ง ผู้ใช้งานไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 20 ล้านบาทและขยายเป็น 500 ล้านบาทใน 5 ปี ส่วนปลายปี 64-65 กำลังเปิดรับการลงทุนในรอบ Pre-Serie A โดยประเมินวงเงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายทีมงานและตลาด”

“การยอมรับ”โจทย์ท้าทายองค์กร

จากการดำเนินงาน พงษ์ชัย กล่าวว่า เนื่องจากเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยในการทำระบบเทเลเมดิซีนสำหรับดูแลโรคเบาหวาน รวมถึงการจัดทำศูนย์ Telehealth Center แห่งแรกในโรงพยาบาลของรัฐ พบว่าความท้าทายเป็นในเรื่องของ “การยอมรับ” และ “การปรับตัว” ของผู้ใช้งานทั้งในกลุ่มคนไข้ โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนการทำธุรกิจ คือ การขยายตลาดให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างตลาดอาเซียน ด้านกลยุทธ์ทางการตลาด วางแผนที่จะขยายตลาดผ่านพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการเข้าถึงตลาดโรงพยาบาล คลินิก และองค์กรขนาดใหญ่

162610086992

ภาพรวมอุตสาหกรรมเทเลเมดิซีนทั้งไทยและต่างประเทศจะเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะตลาด B2B2C และ B2G ยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก ส่วนตลาด B2C จะมีผู้ให้บริการมากขึ้น ขณะที่บริษัทจะมีรายได้จาก 3 ช่องทาง คือ 1.ค่าติดตั้งระบบจ่ายครั้งแรกครั้งเดียว หากสถานพยาบาลรัฐหรือคลินิกทำ MOU เพื่อยกเว้นได้ 2. ค่าใช้จ่ายรายครั้ง เป็นส่วนที่ขอแบ่งรายได้จากสถานพยาบาลที่เบิกค่าใช้จ่ายได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง ประกันชีวิตเอกชน หรือ สิทธิ์การรักษาอื่นๆ และ 3. Health Pods เป็นระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับห้องพยาบาลในโรงงาน

ในอนาคตอันใกล้นี้ได้พัฒนาเพิ่มเติมเป็น Health Pods การแพทย์ทางไกลในสถานประกอบการ เป็นการปรับโฉมห้องพยาบาลของโรงงานหรือองค์กรให้รองรับการพบแพทย์ออนไลน์ รวมถึงจ่ายยาในโรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง ช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ไม่น้อยกว่า 30% จะเปิดดำเนินการช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และจะขยายให้ครอบคลุมโรงงานขนาดใหญ่ 100 แห่งทั่วประเทศ