'mRNA' และ 'วัคซีนเข็ม 3' ที่หลายคนรอคอย

'mRNA' และ 'วัคซีนเข็ม 3' ที่หลายคนรอคอย

วัคซีน "mRNA" นับเป็นวัคซีนที่หลายคนรอคอย โดยเฉพาะวัคซีนทางเลือกอย่าง "โมเดอร์นา" ที่มีการเปิดจอง แต่ได้รับความสนใจทั้งจองเพื่อฉีดเป็นวัคซีนเข็ม1-2 และ 'วัคซีนเข็ม 3' ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ ก็อยู่ระหว่างพัฒนาวัคซีนเจนฯ ใหม่ให้ดีขึ้น

ขณะนี้ประเด็นเรื่อง วัคซีนโควิด-19 เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจโดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคนรอคอยทั้งไฟเซอร์ที่รัฐจัดหา และวัคซีนทางเลือกอย่าง โมเดอร์นา ในหลายประเทศใช้เป็นวัคซีนหลัก เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เยอรมนี แคนาดา รวมถึง ประเทศลาวก็มีการฉีดไฟเซอร์ ซึ่งได้รับจากโครงการ COVAX ร่วมกับวัคซีนตัวอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ วัคซีนหลักๆ คือ วัคซีนชนิดเชื้อพาหะ (แอสตร้าเซนเนก้า) และ วัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) อย่างไรก็ตาม วัคซีน mRNA วันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติให้ กรมควบคุมโรค (คร.) ลงนามในสัญญาซื้อ วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และจะมีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน ยังมีวัคซีนที่ สหรัฐฯ บริจาคไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดส โดยมีการลงนามไปแล้ว ขณะเดียวกัน “วัคซีนโมเดอร์นา” ที่ดูจะมีความคืบหน้า และเป็นความหวังหนึ่งของคนที่รอคอยวัคซีนทางเลือก คาดว่าระยะเวลาที่ได้รับน่าจะอยู่ที่ไตรมาส 4 ของปี

แต่เมื่อดูสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในขณะนี้ จะพบว่ามีตัวเลขเกินครึ่งหมื่นมาหลายวัน และสายพันธุ์ “เดลต้า” ซึ่งเริ่มจะยึดครองประเทศไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น และดูท่าจะกระจายจากกทม. ปริมณฑล ไปยังต่างจังหวัด จนผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่ 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ และอาจทำให้ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักหมื่นในสัปดาห์หน้า

  • ประสิทธิภาพวัคซีนต่อ เดลต้า 

หลายคนมีความกังวลว่าวัคซีนที่ฉีดไปนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างไร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ได้อธิบายว่า สิ่งที่ประชาชนต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน คือ ไม่มีทางป้องกันได้ 100% แต่ละตัวมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน แม้ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ยังมีประสิทธิภาพป้องกันป่วยรุนแรง จนต้องเข้ารพ. และป้องกันอัตราการตายได้สูงมากเกิน 90% ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามหาศาลสำหรับชีวิต และช่วยปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้เกินกำลัง

หากดูข้อมูลวัคซีนที่ใช้ปัจจุบัน เทียบประสิทธิภาพเมื่อเจอโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พบว่า 

 

สายพันธุ์เดลต้ากับผลต่อภูมิคุ้มกัน 

  • ผู้ที่ฉีด “ไฟเซอร์” 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า
  • ผู้ที่ฉีด “แอสตร้าเซนเนก้า” 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า
  • ผู้ที่ฉีด “ซิโนแวค” 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่า

หากเปรียบเทียบการกระตุ้นภูมิฯ 

  • วัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) กระตุ้นการสร้างภูมิได้สูงสุด ระดับพันถึงระดับหมื่น
  • วัคซีนชนิดเชื้อพาหะ (แอสตร้าเซนเนก้า) กระตุ้นการสร้างภูมิได้หลักพันต้นๆ
  • วัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) กระตุ้นการสร้างภูมิได้หลักหลายร้อยปลายๆ

ประสิทธิภาพการป้องกัน “เดลต้า” 

  • ไฟเซอร์ ป้องกันลดลงจาก 93% เหลือ 88% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 96% 
  • แอสตร้าฯ ป้องกันลดลงจาก 66% เหลือ 60% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 92% 
  • ซิโนแวค แม้จะป้องกันเดลต้าได้ไม่ดี แต่ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ตาย ได้ผลมากกว่า 90%

ดังนั้น ในขณะนี้ ใครยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม แนะนำให้ฉีดให้ครบก่อน ยังไม่ต้องกังวลเรื่อง 'วัคซีนเข็ม3' และหากรออีก 6 เดือน จะได้ mRNA รุ่นใหม่ ที่ป้องกันสายพันธุ์ “เดลต้า” ได้ รวมถึงฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง และปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกยี่ห้อยังไม่มี และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เร็วสุดอาจได้วัคซีนรุ่นใหม่ปลายปีนี้ หรืออาจจะต้นปีหน้า 2565

162601077051

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

   

  • แนะฉีดครบ 2 เข็ม และรอ 'วัคซีนเข็ม 3' เจนใหม่ 

สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.นพ.วิชัย เตชะสาธิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ และผู้อำนวยการ ศูนย์บัญชาการสถานการณ์โควิด-19 รพ.บำรุงราษฎร์ ระบุว่า หลักการสำคัญที่สุดของการรับวัคซีนโควิด-19 คือ ฉีดแล้ว ถึงจะติดเชื้อต้องไม่เป็นโรครุนแรง ประโยคนี้สำคัญที่สุด ไม่มีวัคซีนไหนออกมาแล้วป้องกันได้ 100% แต่จากการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมา วัคซีนทุกตัวป้องกันไม่ให้เราเป็นโรครุนแรงถึงจะติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีน

สำหรับการฉีดวัคซีนในไทย “แอสตร้าเซนเนก้า” เริ่มมีการฉีดจริงจังในเดือนมิ.ย. 64 ขณะที่การฉีดเข็มที่ 3 น่าจะอยู่ระหว่าง 3 -6 เดือนหลังจากฉีดครบสองเข็ม ด้วยจังหวะไทม์ไลน์ ยังไม่ต้องรับโมเดอร์นาตอนนี้ ขอให้รอเวอร์ชั่นใหม่ที่ครอบคลุมหลายสายพันธ์มากกว่า ดังนั้น คนที่รับแอสตร้าเซนเนก้า ขอแนะนำให้ฉีดครบ 2 เข็ม ซึ่งฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ หากได้รับ 2 เข็ม ก็ยังครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้าแม้จะติดเชื้อแต่ก็ไม่รุนแรง

“ผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าควรฉีดให้ครบ 2 เข็ม แล้วรอวัคซีนที่กำลังจะออกเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตกำลังดำเนินการผลิตอยู่ มีการพัฒนาให้ป้องกันหลายสายพันธุ์ ที่เรียกกันว่า Multi-variant vaccine คล้าย ๆ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดเพียงตัวเดียว ป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะทำสำเร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2565”

“ขณะนี้ การข้ามแพลตฟอร์ม ข้อแนะนำทางสากลยังไม่แนะนำ อยู่ในขั้นการทดลองทั้งหมด เพราะฉะนั้นยังไม่รู้ผลข้างเคียงระยะยาว แต่เบื้องต้นแนวโน้มดี แต่ขอให้มีข้อมูลที่ชัดเจน สิ่งที่ต้องทำให้ประเทศ คือ ภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้ดีที่สุดกับวัคซีนที่มีอยู่” ผศ.นพ.วิชัย กล่าว

สำหรับ รพ.บำรุงราษฎร์ ซึ่งได้ทำการเปิดจองโมเดอร์นาเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมในการจอง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆ สามารถจองได้ 2 เข็ม และ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวคครบ 2 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรการแพทย์ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก จองได้ 1เข็ม วัคซีนที่ผลิตเนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ วันหมดอายุนับตั้งแต่วันผลิตไปอีก 6 เดือน หักลบการขนส่งกว่าที่โมเดอร์นาจะมาถึงราวไตรมาส 4 ดังนั้น การให้บริการจึงต้องคำนึงถึงวันหมดอายุรวมถึงต้องพิจารณาความจำเป็นของคนที่จะได้รับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นอันดับแรก

“แน่นอนว่าเป็นคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนใดๆ ไม่ว่าจะไม่อยู่ในโควต้าการจัดสรร หรือมีความกังวล แต่ทุกวัคซีนย่อมมีผลข้างเคียงมากน้อยแล้วแต่คน เบื้องต้นอาจจะพิจารณาผู้ป่วยของรพ.เป็นอันดับแรกๆ เหมือนกับการลงทะเบียนกับ “หมอพร้อม” ที่ผู้ใช้บริการจองคิวไปฉีดวัคซีนใน รพ. ที่ตนเองรักษาประจำ เนื่องจากมีประวัติการรักษา รวมถึงต้องคำนึงถึงจำนวนวัคซีนที่จะได้รับ เพราะยังไม่ทราบว่าจะได้เพียงพอมากแค่ไหนที่จะสามารถให้ผู้ที่สนใจฉีด”

รวมถึงเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมาแล้ว โดยเน้นกลุ่มแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค เมื่อต้นปี และพนักงาน รวมถึง บุคคลทั่วไป และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย เพื่อเป็นการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้กว้างขึ้น

 

  • วัคซีน mRNA กับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบา โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยให้ความรู้เรื่อง “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับ mRNA vaccine” ระบุว่า ถึงวันนี้ทุกคนคงยอมรับแล้วว่า mRNA vaccine จาก Pfizer x BioNTech และ Moderna มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหรือติดเชื้อ COVID รวมถึงมีข้อมูลการศึกษามากที่สุดในปัจจุบัน

แต่เหรียญมีสองด้าน นอกจาก ปัญหาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) แล้ว AEFI (adverse event following immunization) ที่คนพูดถึงมากหนีไม่พ้นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (CDC รวมข้อมูลแล้วจัด myocarditis และ pericarditis รวมกันไปเลย)

รายงานจาก ACIP ของ CDC เผยแพร่ใน MMWR ฉบับล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน รวบรวมข้อมูลจาก Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ของผู้ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งทั้งประเทศได้รับไปแล้ว 296 ล้านโดส (ถึงวันที่ 11 มิถุนายน) เป็นกลุ่มคนอายุ 12-29 ปีรวม 52 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มแรก 30 ล้านโดส และเข็มสอง 22 ล้านโดส

ในข้อมูล VAERS มีผู้ที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ทั้งสิ้น 1,226 ราย อายุเฉลี่ย 26 ปี แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลนี้รวมทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ตาม ดังนั้น จะมีผู้ที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุอื่นทั่วไป

CDC ทำการ review ข้อมูลผู้ที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หลังฉีดวัคซีนทุกรายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และเข้าเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นแน่นอน 323 ราย มีอายุเฉลี่ย 19 ปี ชาย:หญิง มีสัดส่วน 9:1 เกิดอาการเฉลี่ย 2 วันหลังได้วัคซีน โดยเกือบทุกคนจะมีอาการภายใน 7 วัน อาการไม่รุนแรง และเกือบทั้งหมดหายกลับบ้านได้ด้วยการรักษาตามอาการ หรือกินยาต้านการอักเสบ ไม่มีใครเสียชีวิต

การจำแนกกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มที่มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) สูงสุดคือผู้ชาย อายุระหว่าง 12-17 ปี รองลงมาคือ 18-24 ปี โดยพบสูงสุดในกลุ่มนี้คือราว 7 คนใน 1 แสนคน เมื่อเทียบกับประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ/ป่วย/ป่วยหนัก/เสียชีวิตแล้ว ความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยกว่าประโยชน์ของวัคซีนมาก โดยสรุป ACIP CDC ยังคงแนะนำให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีน โดยยังคงรวบรวมข้อมูล AEFI และผลระยะยาวต่อไป

 

  • แอสตร้าฯ เข็มแรก ไฟเซอร์เข็ม 2 ภูมิสูง

ด้าน “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับการ การศึกษาชิ้นล่าสุดที่แสดงผลการทดสอบอาสาสมัคร 229 คน ที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก และไฟเซอร์เข็มสอง โดยห่างกัน 9-12 สัปดาห์ พบว่า ภูมิคุ้มกันที่อาสาสมัครตรวจพบพุ่งสูงมาก มากกว่าไฟเซอร์ 2 เข็มด้วยซ้ำ

“ขณะที่ ข้อมูลเกี่ยวกับ ผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด mRNA ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือ Myocarditis เขียนสรุปออกมาโดยทีมของ US CDC ลงในวารสาร JAMA มี หมอในฮ่องกงท่านหนึ่งสรุปตัวเลขที่รวบรวมได้ ดังนี้ 1. โอกาสเสี่ยงต่ำมากครับ ประมาณ 24 เคส ต่อ1 ล้านคน 2. โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายอายุไม่สูงมาก หลังได้รับเข็มสองไปแล้ว และ 3. ส่วนใหญ่มีอาการเบา ไม่รุนแรงอะไร รักษาตัวไม่กี่วันก็กลับบ้านได้”

 

  • ซิโนแวค 2 แอสตร้าฯ 1 เข็ม กันเดลต้า 99%

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงผลการศึกษาขั้นต้น วัคซีนที่มีในไทย สูตรไหนใช้ต่อกร Covid สายพันธุ์เดลต้าได้ พบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม แม้ระดับ Neutralize antibody ขึ้น 80-90% แม้ว่าจะวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุอัลฟ่าได้บ้างแต่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้เลย แต่ในคนที่ได้แอสตร้าเซนเนก้า ครบ2 เข็มและมีระดับNeutralize antibody ที่สูงเกิน 90% สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีระดับหนึ่งและ ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 เมื่อ wave3 ที่ผ่านมา เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์ เดลตาได้เทียบเท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

ส่วนผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 อีกคน แม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุอัลฟ่าที่สูงแต่กับ เดลต้า กับมีน้อยมากวัคซีนสูตรผสมซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่าซิโนแวค 2 เข็ม แต่ไม่เท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม สุดท้าย ที่ดูแนวโน้มดีสุด คือ ผู้ที่ได้ ซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบ มีระดับภูมิคุ้มกัน Neutralize antibody สูง 99% รวมถึง ค่า IC50 ต่อสายพันธุ์ เดลตา ในระดับสูงสุด

จากข้อมูลการศึกษาเบื้องต้น แม้ว่าเรายังไม่มีวัคซีน mRNA แต่สำหรับบุคลากรด่านหน้าผู้เสียสละ ซึ่งได้รับซิโนแวคเป็นส่วนมากในช่วงแรก แต่ระดับการป้องกันตอนนี้คงไม่เพียงพอต่อไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า การใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น ก็น่าจะเพียงพอให้เขาปลอดภัยในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนชนิด mRNA

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาของทางศูนย์เชียวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมาร​เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเชื้อตาย (Sinovac) และเข็มที่ 2 ในเวลา 3-4 สัปดาห์ต่อมา เป็นไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca) พบว่าภูมิต้านทานหลังเข็ม 2 ที่ 1 เดือน จะสูงขึ้นมากกว่าการให้ Sinovac 2 เข็ม ประมาณ 8 เท่า และมีเปอร์เซ็นต์การขัดขวางไวรัสสูงถึง 95% inhibition มากกว่า 95%

แต่ถ้าให้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้นแอสตร้าเซนเนก้า ผลภูมิต้านทานทานจะสูงขึ้นไปอีกมาก (มากกว่า 30 เท่า) (ข้อมูลยังมีน้อยและกำลังศึกษาอยู่) การให้วัคซีนสลับเข็ม ที่ผ่านมา มีการลงทะเบียนในหมอพร้อม ประมาณ 1,000 ราย ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง ทางศูนย์ฯ ยังศึกษาอย่างต่อเนื่อง และ ภายในสิ้นเดือนนี้จะได้ข้อมูลละเอียดยิ่งขึ้น รวมทั้งความปลอดภัยจากการศึกษาทางคลินิก

  • ผลการศึกษา ไขว้วัคซีน ต่างประเทศ แต่ละยี่ห้อเป็นอย่างไร

ในต่างประเทศที่ทำการศึกษาไขว้วัคซีน “ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์” รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม อธิบายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไขว้ แอสตร้า – โมเดอร์นา - ไฟเซอร์ โดย "แคนาดา" เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่รับวัคซีนสลับระหว่างเข็มหนึ่ง-สอง ซึ่งคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ ได้ให้หลักเกณฑ์การสลับวัคซีนทั้ง 3 ตัว ดังนี้

1. ถ้าเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า แนะนำ แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า , แอสตร้าเซนเนก้า- โมเดอร์นา , แอสตร้าเซนเนก้า – ไฟเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซเนก้านำเข้าจากยุโรปหรือเอเชีย (อินเดีย) ก็ตาม เข็ม 2 สามารถเป็น แอสตร้าเซเนก้าจากแหล่งใดก็ได้ หรือโมเดอร์นา/ไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โดยการให้สูตรผสมควรพิจารณาความเสี่ยงจากโอกาสการเกิดลิ่มเลือด โอกาสในการแพ้วัคซีน (Local & Systemic reactogenicity) เมื่อเอาวัคซีนต่างชนิดมาสลับกัน และข้อมูลทางภูมิคุ้มกันวิทยาหลังจากสลับ (ซึ่งยังไม่ตีพิมพ์ฉบับสมบูรณ์) ประกอบกัน

2. ถ้าเข็มแรกเป็นโมเดอร์นาหรือไฟเซอร์ แนะนำให้เข็ม 2 เป็นยี่ห้อเดิมต่อไป เช่น โมเดอร์นา-โมเดอร์นา หรือไฟเซอร์-ไฟเซอร์ (รวมถึงเคียวแวก-เคียวแวก ในอนาคต) แต่หากมีเหตุจำเป็นว่ายี่ห้อเดิมมีไม่พอ ให้พิจารณา mRNA ยี่ห้ออื่นทดแทนได้อัตโนมัติ โดยการให้วัคซีนเข็มหนึ่ง-สองควรห่างกัน 4-12 สัปดาห์ การสลับตามสูตรทั้งสองแม้จะมีรายงานผลข้างเคียงมากขึ้น (Com-CoV) แต่ผลความปลอดภัยโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

มีเพียงสูตรนำด้วยไฟเซอร์/โมเดอร์นา เข็มแรก แล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนกาเข็มสอง ยังไม่อยู่ในคำแนะนำ (แต่อยู่ระหว่างการศึกษาการไขว้วัคซีน Com-CoV ซึ่งต้องดูผลสรุปกันต่อไป)

ทั้งนี้ แคนาดามีการปรับเปลี่ยนการให้แอสตร้าเซเนก้าหลายครั้ง 31 มีนาคม ไม่ให้ใช้ในกลุ่มอายุ <55 ลงมา , 23 เมษายน: อนุญาตให้ใช้กลุ่มอายุ >30 ขึ้นไป , 11 พฤษภาคม: รัฐ Alberto และ Ontario หยุดการให้แอสตร้าเข็มแรก และ 1 มิถุนายน : แนะนำ Guideline ตามที่นำเสนอข้างต้น และอนุญาตให้ประชาชนเลือกวัคซีนเข็มสองได้เอง โดยคำแนะนำดังกล่าวยังให้ใช้ปฏิบัติกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศแคนาดาด้วยเช่นกัน