'มจธ.' พัฒนาระบบ 'คลังสินค้าอัจฉริยะ' รับธุรกิจโลจิสติกส์-อีคอมเมิร์ซ

'มจธ.' พัฒนาระบบ 'คลังสินค้าอัจฉริยะ' รับธุรกิจโลจิสติกส์-อีคอมเมิร์ซ

ระบบ 'คลังสินค้าอัจฉริยะ' โดยนำหลักการโลจิสติกส์ มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีไอโอที อัพเกรดเครื่องมือเก่าในคลังสินค้าให้เป็นดิจิทัล เก็บข้อมูลสต๊อกและทำงานผ่านระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ ช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาสต๊อก ขนส่งไว ไม่ผิดพลาด

162583001050

โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ ให้เติบโต พร้อมแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะฝีมือนักวิจัย มจธ. ยังมีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศกว่า 10 เท่า เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงเทคโนโลยีง่ายขึ้น คาดพัฒนาระบบเสร็จพร้อมส่งต่อให้ผู้ประกอบการในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้

ผศ.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์, ประธานหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. และหัวหน้าโครงการวิจัยคลังสินค้าอัจฉริยะ กล่าวว่า จุดเด่นของระบบคลังสินค้าอัจฉริยะที่พัฒนานี้ คือ การนำแนวคิดของ IoT มาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือดั้งเดิมที่ใช้งานอยู่แล้วในคลังสินค้า เช่น รถลากพาเลท (Hand Lift) และ รถยกสูง (Stacker) ให้กลายเป็นรถที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับควบคุม แสดงผล และสั่งงานผ่านแท็บเล็ตที่ติดตั้งไว้บนตัวรถ ขณะที่ข้อมูลสินค้า ทั้ง ประเภท, จำนวน และสถานที่จัดเก็บ จะมีการรับรอง ประมวลผล และส่งกลับด้วยกลุ่มเทคโนโลยีเซนเซอร์แบบผสมผสานที่ออกแบบตามลักษณะของสินค้าและอุปกรณ์เดิม จดจำพฤติกรรมการเข้า-ออกของสินค้า และการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การทำงานภายในคลังสินค้าเป็นไปตามระบบที่ออกแบบไว้ ลดความซับซ้อน และภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังลดงานด้านเอกสารไปได้เกือบทั้งหมด เพราะข้อมูลกระดาษถูกเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิทัลที่เรียลไทม์และมีคุณภาพมากขึ้น

“ระบบ Smart Warehouse เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ฮาร์ดแวร์ กับ ซอฟต์แวร์ โดยนำฮาร์ดแวร์ หรือเครื่องมือเดิม มาผูกกับซอฟต์แวร์ที่เราออกแบบขึ้นมาใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องโละของเก่าทิ้ง หรือเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับให้เครื่องมือและคลังสินค้ามีความทันสมัย ช่วยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ โดยระบบนี้จะเข้ามาทำให้ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่รับสินค้าเข้าคลัง, ตรวจสอบความถูกต้องของประเภทและจำนวน, จัดเก็บ, โยกย้าย และขนส่ง เป็นไปอย่างไหลลื่น มีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาด ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น วางสินค้าผิดตำแหน่ง หรือสินค้าขาดหาย จะมีสัญญาณแจ้งเตือนทันที” หัวหน้าโครงการวิจัยฯ อธิบายเพิ่มเติม

โดย ปัจจุบันประเทศไทยมี Smart Warehouse เพียง 5% ที่เหลืออีก 95% ยังเป็นแบบดั้งเดิม เนื่องจากต้นทุนในการนำเข้าระบบจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงหลัก 100 ล้านบาท แต่การพัฒนาระบบคลังสินค้าอัจฉริยะของศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. ช่วยลดต้นทุนเหลือเพียง 7 ล้านบาทเท่านั้น ด้าน ผศ.ดร.กานดา เชื่อว่าหากสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมไทย เปลี่ยนระบบคลังสินค้าให้ทันสมัยขึ้น จะช่วยลดต้นทุนด้านเอกสาร, สามารถบริหารจัดการพื้นที่ภายในคลังสินค้าให้จัดเก็บสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ขนส่งรวดเร็วขึ้น ทั้งยังลดความผิดพลาดในการขนส่งสินค้าสู่ผู้ซื้อ

โครงการระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ นำทีมวิจัยโดย ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ ร่วมกับ รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ จากภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และนายวรวิทย์ พันธุ์ปัญญาเทพ จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับบริษัทอาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัด ใช้ระยะเวลาวิจัยและพัฒนาระบบประมาณ 1 ปี คาดว่าจะสำเร็จ พร้อมส่งต่อเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการที่สนใจช่วงเดือนกันยายน 2564 นี้

ทั้งนี้ คลังสินค้าอัจฉริยะจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจโลจิสติกส์ไทย ซึ่งปีที่ผ่านมาเติบโตกว่า 30% และทำให้ธุรกิจเช่าคลังสินค้าเติบโตขึ้นด้วย โดยคาดว่าความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 5.7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เป็นผลมาจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุกิจอีคอมเมิร์ซ