สศช.เบรกลงทุนทางคู่ คุมงบหนุนแก้พิษโควิด

สศช.เบรกลงทุนทางคู่ คุมงบหนุนแก้พิษโควิด

การรถไฟฯ รับทางคู่เฟสสองยังติดหล่ม หลัง สศช.คุมเข้มใช้งบลงทุนเซฟเงินช่วยโควิด-19 พร้อมสั่งทบทวนทางคู่หาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ชี้ระบบไฟฟ้าไม่หนุนไทย

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 โดยระบุว่า ขณะนี้โครงการลงทุนรถไฟทางคู่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งทาง สศช.ย้ำว่าในระยะสั้นนี้จะรับพิจารณาเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ที่เหมาะสม และจำเป็นเท่านั้น มีเพียงโครงการเดียวที่เข้าข่ายพิจารณา คือ โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ส่วนเส้นทางอื่นๆ ขอชะลอโครงการไปก่อนจากปัญหาภาระงบประมาณของรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนโครงการทางคู่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะพัฒนาให้เป็นรถไฟระบบไฟฟ้าเส้นทางแรก เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการขนส่งรูปแบบใหม่ และรองรับต่อการขนส่งระบบรางเชื่อมต่อกับรถไฟของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้สะดวกมากขึ้น ซึ่งรถไฟทางคู่สายนี้มีระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 7,864 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับความเห็นชอบรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติโครงการต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเสนอขอความไปยัง สศช. ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป โดยล่าสุด สศช.มีความเห็นไม่เห็นด้วยกับโครงการทางคู่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ที่จะพัฒนาเป็นระบบไฟฟ้า โดยให้เหตุผลว่าระบบไฟฟ้าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซียมากกว่าการเอื้อประโยชน์คมนาคมของไทย

“ตอนนี้โครงการทางคู่เฟสสอง ทางสภาพัฒน์ขอชะลอการพิจารณาออกไปก่อน ยกเว้นแต่โครงการสายขอนแก่น – หนองคายที่จะสนับสนุนต่อการขนส่งเชื่อมต่ออีอีซี และประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเชื่อมไปจีน”

ส่วนโครงการทางคู่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ สศช.ขอให้ ร.ฟ.ท.ไปทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด โดยถอดระบบไฟฟ้าออก และปรับให้เป็นรถไฟทางคู่เหมือนโครงการอื่นๆ แทนเพื่อให้สนับสนุนการขนส่งของระบบรางไทยมากกว่า ดังนั้นโครงการนี้อาจจะต้องชะลอการนำเสนอโครงการไปก่อน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้อีกครั้งเมื่อไหร่ ทำให้โครงการล่าช้าไปจากแผนเดิม ที่ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าว่า จะนำเสนอโครงการให้ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ และผลักดันการประกวดราคาต้นปีหน้า เพื่อเริ่มก่อสร้างกลางปี 2565