AIRA ลุยธุรกิจใหม่ ผุดดิจิทัลแพลตฟอร์ม !

AIRA ลุยธุรกิจใหม่ ผุดดิจิทัลแพลตฟอร์ม !

เมื่อเทรนด์ของโลกยุคใหม่ กำลังส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนเคลื่อนย้ายไปสู่สินทรัพย์ประเภทดิจิทัล 'นลินี งามเศรษฐมาศ' นายหญิง 'ไอร่า แคปปิตอล' เร่งเจรจา SME ผู้พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม 3-4 ราย คาดสรุปปลายปีนี้

คงปฏิเสธไม่ได้นี่คือยุคของ 'การเปลี่ยนแปลง' (Disruption) ดังนั้นหากองค์กรใดๆ ไม่เร่งปรับตัวเองตามให้ทันกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาจจะทำให้เสียโอกาสหรือผลประโยชน์ในการดำเนินงานได้ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจตลาดเงิน-ตลาดทุน ซึ่ง บมจ. ไอร่า แคปปิตอล หรือ AIRA หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่ตอบโจทย์บริการทางการเงินในรูปแบบ Non-Bank ครบวงจร 

'นลินี งามเศรษฐมาศ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไอร่า แคปปิตอล หรือ AIRA เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า บริษัทมีความสนใจลงทุน 'ดิจิทัลแพลตฟอร์ม' (Digital Platform) เพื่อรองรับการทำธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะทำในอนาคต โดยเฉพาะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) , บิตคอยน์ (Bitcoin) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมพัฒนาในแพลตฟอร์มดิจิทัลกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ประมาณ 3-4 ราย คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ 

'เราต้องการจะเข้าไปศึกษาแนวทาง เมื่อเทรนด์ของกระแสเงินและแนวทางโน้มแนวตัวแปรในกระแสเงินในอนาคตจะเป็นเรื่องของคริปโตฯ หรือ บิตคอยน์ ดังนั้น เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและเข้าใจทิศทางของกระแสเงินทุนที่เปลี่ยนไป' 

รวมทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Global Trading) เพื่อเพิ่มศักยภาพและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนานี้จะเป็นส่วนช่วยผลักดันศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ และยังมีแผนต่อยอดการทำธุรกิจกับพันธมิตรต่างประเทศ ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง Wealth Management และที่ปรึกษาการลงทุน ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอร่า บริษัทในเครือน้องใหม่ล่าสุด โดยมีลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับบน High Net Worth เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

สำหรับแผนการทำธุรกิจและการลงทุนในปี 2564 บริษัทคาดว่าผลประกอบการ 'พลิกเทิร์นอะราวด์' ด้วยศักยภาพการทำธุรกิจของบริษัทลูกและบริษัทร่วมทุนที่รักษาระดับการเติบโตของรายได้และการขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมายเป็นตัวแปรหลักผลักดันผลเชิงบวกต่อเนื่อง สะท้อนผ่านที่ผ่านมาทั้งกลุ่มบริษัทมีการขยายและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปี 2563 จะเป็นปีแห่งความยากลำบากเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แต่ผลประกอบการปี 2563 ยังเติบโตและสามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

เธอ เล่าต่อว่า จากแผนยุทธศาสตร์การสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในเครือตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจึงมองเห็นโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคงของบริษัทในเครือ 2 แห่ง บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ซึ่งบริษัทร่วมลงทุนกับบริษัท AIFUL Corporation ผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริการบัตรกดเงินสด 'A money' 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจที่มุ่งพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่มีพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้น พร้อมยกระดับมาตรฐานการให้บริการสู่ Moblie Platform อย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบัน บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล มีฐานลูกค้าประมาณ 500,000 ราย โดยบริษัทยังคงมีศักยภาพในการขยายฐานลูกค้าในปี 2564 เพิ่มมากขึ้นได้อีกจากฐานการเงินที่แข็งแกร่ง 

และ บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง ซึ่งประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ล่าสุด NEC CAPITAL SOLUTIONS LIMITED บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 20% ซึ่งสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นอีก โดยเป้าหมายในอนาคตมีแผนที่จะนำบริษัททั้ง 2 แห่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยภายในปี 2565 

'แม้ตอนนี้ยังมีการระบาดของโควิด-19 แต่ ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ยังสามารถปล่อยสินเชื่อมีรายได้เข้ามาบวกกับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เริ่มมีกำไรตั้งแต่ต้นปี ซึ่งตามแผนที่ฝ่ายบริหารของไอร่า แอนด์ ไอฟุล เสนอสิ้นปีนี้บริษัทจะมีกำไร ปีหน้าก็พร้อมที่จะเข้าตลาดหุ้นได้ เช่นเดียวกับ ไอร่า ลิสซิ่ง มีการขยายสินเชื่อลีสซิ่งสนับสนุน SME มาโดยตลอด' 

ส่วนแผนขยายการลงทุน 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' ผ่าน บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทร่วมทุนกับ Kenedix Asia Pte,Ltd. ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และEugene Investment & Securities Co., Ltd กลุ่มธุรกิจชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ โดยบริษัทจะมีการตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ประเภทอาคารสำนักงานให้เช่า คาดว่ามูลค่ากองรีทประมาณ 'หมื่นล้านบาท' คาดว่าจะขายกองรีทดังกล่าวได้ภายในปี 2566 

อย่างไรก็ตามตอนนี้อยู่ระหว่างการโอนโครงการสำนักงานให้เช่า Spring Tower มูลค่า 2,500 ล้านบาท และซื้ออาคารออฟฟิศให้เช่าเพิ่มเติมเข้ามาอีกประมาณ 5 อาคาร แต่เบื้องต้นสนใจ 2 อาคาร คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในการซื้ออาคารดังกล่าวภายในปีนี้ มูลค่าราว 2,000-3,000 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนกองรีทประเภทคลังสินค้าให้เช่า คาดว่ามูลค่ากองรีทจะอยู่ที่ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะมีการลงทุนสร้างคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 5 แห่ง ซึ่งในแผนจะนำคลังสินค้าทั้งหมดเข้ากองรีท ซึ่งคาดว่าจะขายกองรีทดังกล่าวได้ในปี 2566 ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของบริษัทแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เนื่องจากมองเห็นเทรนด์ในอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตระดับสูง 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 บริษัทยังคงดำเนินแผนการลงทุนที่วางไว้ตามนโยบายของบริษัท Holding Company ที่ประกอบธุรกิจการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์บริการทางการเงินในรูปแบบ Non-Bank ครบวงจร ภายใต้การให้บริการทางการเงินแบบ One stop service เนื่องจากกลุ่มธุรกิจของบริษัทในเครือ AIRA Group สามารถต่อยอดและให้บริการตามความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกมิติ 

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจลีสซิ่ง ซึ่งเป็นการให้บริการสินเชื่อแบบเช่าซื้อ สัญญาเช่าดำเนินงานและอื่นๆ, ธุรกิจแฟคตอริ่ง ผู้ให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นด้วยการรับซื้อลดลูกหนี้การค้าโดยการรับโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงิน , ธุรกิจด้านการเงิน ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล , ธุรกิจหลักทรัพย์ , ธุรกิจด้านบริหารจัดการกองทุน ภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไอร่า จำกัด รวมถึง ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

'AIRA Group มีการวางกลยุทธ์ในการต่อยอดธุรกิจทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ในปีนี้ AIRA Group ก้าวสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจ Non-Bank ทางการเงินการลงทุนที่ครบวงจร และสามารถให้บริการได้ในทุกมิติ เป็นการสะท้อนศักยภาพของบริษัทฯ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง'

ท้ายสุด 'นลินี' ทิ้งท้ายไว้ว่า จะร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศที่มีอยู่ทั่วโลกมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งช่วยหนุนการเติบโตในธุรกิจระยะยาว