เปิดโปรเจค ‘ซีซีทีวี’ ตำรวจ ตัด ‘สามเหลี่ยมอาชญากรรม’

เปิดโปรเจค ‘ซีซีทีวี’ ตำรวจ ตัด ‘สามเหลี่ยมอาชญากรรม’

ซีซีทีวี 9,138 ตัว 5,606 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 88 สน . เสริมการทำงานตำรวจ ปิดทาง"ผีผ่าน" ปิดโอกาสคนร้าย แม้จะเห็นเหยื่อก็ไม่กล้าลงมือ คดีก็ไม่เกิด เป็นการทำลาย "สามเหลี่ยมอาชญากรรม"

 “ประชาชนต้องปลอดภัย” นี่คือนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่คาดหวังให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดอาชญากรรม ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) 9,138 ตัว ครอบคลุมพื้นที่ 88 สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ส่งผลให้การติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้ผลเกิน 90%

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร จตร.สบ 8 ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เป็นนโยบายของ ผบ.ตร. ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ คือติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มแรก 3,000 ตัว เป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับประชาชนได้รู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น

จากนั้น ผบ.ตร.มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสำรวจโรงพัก 88 สน.ว่าต้องการให้ติดกล้องวงจรปิดในจุดใดบ้าง โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนซึ่งมีหน้าที่โดยตรงติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุ เป็นผู้กำหนดจุดติดตั้ง เพราะรู้เส้นทางหลบหนี หรือเส้นทางก่อเหตุได้ครอบคลุมทั้งถนนสายหลัก สายรอง จุดเสี่ยง จุดล่อแหลม และพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ

เมื่อสำรวจเรียบร้อยแล้ว ผบ.ตร.เห็นว่ายังมีจุดบอดหลายพื้นที่ จากเดิมติดตั้งเพียง 3,000 ตัว กลายเป็น 9,138 ตัวในพื้นที่ 5,606 จุด ครอบคลุม 88 สน. ตั้งแต่ บก.น.1-บก.น.9 ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ อธิบายต่อว่า กล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างหนึ่งที่ใช้ในการสืบสวนจับกุม และติดตามคนร้าย ในขณะเดียวกันก็สามารถป้องปรามเหตุร้ายได้ด้วย 

โดยกล้องวงจรปิดที่ใช้ราคาไม่แพง ติดตั้งง่าย หาซื้อง่าย มีขายตามท้องตลาด ส่งสัญญาณภาพด้วยระบบซิมโทรศัพท์มาถึงตำรวจที่โรงพักทั้ง 88 สน. สามารถดูภาพสด ภาพย้อนหลังได้ 30 วัน ในตัวกล้องสามารถบันทึกภาพได้ 15 วัน โดยมีเมมโมรี่การ์ดอีกตัวนึง ภาพคมชัดทั้งกลางวัน กลางคืน สามารถบันทึกเสียงคนร้ายในระยะใกล้ๆ ได้

นอกจากนี้ ผบ.ตร.ให้นโยบายว่า ให้แต่ละโรงพักแบ่งหน้าที่ให้ตำรวจสายสืบ 1 คนรับผิดชอบกล้อง 10 ตัว ซึ่งจะมีโปรแกรมอยู่ในโทรศัพท์มือถือ สามารถตรวจเช็คได้ตลอดเวลาว่ากล้องยังทำงานอยู่หรือไม่ หากตัวไหนดับไป ก็ต้องโทรแจ้งผู้รับผิดชอบให้ตรวจสอบ หรือลงพื้นที่ไปตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง

หลังติดตั้งเสร็จสิ้น มีสถิติการจับกุมคดีต่างๆ มากมาย และสามารถจับกุมคนร้ายได้เร็วขึ้น เช่น ลักทรัพย์ ขโมยจักรยานยนต์ อุบัติเหตุ ได้เกินกว่า 90% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดเหตุตำรวจต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่ามีกล้องวงจรปิดหรือไม่ หากมีต้องประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าของ ทั้ง กทม. และเอกชน ต้องใช้เวลาพอสมควร ทำให้ติดตามคนร้ายได้ยากขึ้น

162553504928

สำหรับจุดศูนย์เซ็นเตอร์กล้องซีซีทีวีนั้น พล.ต.ท.จิรพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากกล้องที่ใช้ราคาไม่แพง ทำงานเดี่ยว เป็นกล้องที่มีซิมโทรศัพท์ส่งสัญญาณภาพ 4G แต่ละตัวไม่ได้มีการเดินสายไฟเบอร์ จึงไม่มีการรวมไว้ที่ศูนย์ควบคุมของโรงพัก แต่ ผบ.ตร.ให้ศึกษาดำเนินการโครงการต่อไป โดยให้ทุกโรงพักมีศูนย์ CCOC คือ ศูนย์รวมกล้องวงจรปิดทั้งหมด และตอนนี้กำลังใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน โดยการดึงภาพจากกล้องชนิดไร้สายมารวมที่เซิร์ฟเวอร์กลางของโรงพัก และมีระบบบริหารจัดการภาพวงจรปิดจากกล้องวงจรปิดตั้งในศูนย์ CCOC ของโรงพัก โดย ผบ.ตร.ให้ทดลองใน 3 โรงพัก ประกอบ โรงพักทองหล่อ โรงพักโชคชัย โรงพักบางเขน นำร่องเทคโนโลยีเอามารวมที่ศูนย์ Command Center

ส่วนในอนาคต เมื่อรวมภาพมาที่ศูนย์ควบคุมได้แล้ว ก็จะมีการเพิ่มระบบ AI ในหัวกล้อง เช่น กล้องตรวจจับใบหน้า กล้องตรวจจับเลขทะเบียน กล้องตรวจจับการร้องขอความช่วยเหลือจากเหตุร้าย กล้องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยที่วางทิ้งเอาไว้นานผิดปกติ 
รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุ เช่นเป็นลมหมดสติ หากไม่ได้สติเป็นเวลาที่กำหนดไว้ กล้องตัวนี้จะแจ้งเตือนมาที่ศูนย์ ศูนย์ก็จะสั่งให้สายตรวจไปตรวจสอบ

หรือพบกล่องต้องสงสัยวางทิ้งไว้ 15-20 นาทีไม่มีเจ้าของมาหยิบไป กล้องก็จะเตือนมาทางศูนย์ เช่นเดียวกับกล้องตรวจจับใบหน้า เรามีฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิดตามหมายจับบุคคลต้องสงสัยที่เราใส่ข้อมูลไว้ หากเดินผ่านกล้อง หรือแม้แต่รถต้องสงสัยที่ติดตามอยู่ขับผ่าน เมื่อเห็นป้ายทะเบียนก็จะแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ ก็จัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมต่อไป

“กรุงเทพมหานครเปรียบเสมือนพื้นที่นำร่องติดตั้งกล้องวงจรปิด เพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวน และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมให้กับเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ จนครอบคลุมทั้งประเทศ

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ผบ.ตร. ติดตามความคืบหน้าโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งความพึงพอใจของประชาชน คดีที่เกิดขึ้นตำรวจสามารถจับกุมได้หรือไม่ และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้งานกล้องวงจรปิดแต่ละพื้นที่ ติดขัดปัญหาอะไรหรือไม่

ผลปรากฏว่าประชาชน พึ่งพอใจเป็นอย่างมาก คดีที่เกิดขึ้นสามารถจับกุมได้เกือบ 100% หรือจะบอกว่า ทุกคดีสำคัญๆ ทุกคดีสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้หมดก็ว่าได้ ผู้ปฏิบัติงานก็พึ่งพอใจ เพราะใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ ผบ. ตร. ได้สั่งการให้กองบัญชาการนครบาล ไปสำรวจจุดติดตั้งกล้องเพิ่มเติมอีก 10,000 ตัว ให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม.มากที่สุด เพราะยิ่งเป็นเมืองใหญ่ๆ ติดตั้งกล้องเยอะ ยิ่งปลอดภัย หากทำแล้วเสร็จก็จะทำให้มีกล้องวงจรปิดเกือบ 20,000 ตัว

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผบ.ตร. อยากให้กล้องวงจรปิด เป็นตัวเสริมให้ตำรวจทำงานได้ง่ายขึ้น ปิดช่องทางคนร้ายหลบในซอยเล็กๆ หรือที่เรียกว่า “ช่องผีผ่าน” เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและป้องปรามคนร้ายได้  เพราะ ‘สามเหลี่ยมอาชญากรรม’ ประกอบด้วย คนก่อเหตุ เหยื่อ โอกาส หาก 3 อย่างนี้มารวมจะมีคดีเกิดขึ้น แต่หากมีกล้องวงจรปิดก็ปิดโอกาสของคนร้าย แม้จะเห็นเหยื่อก็ไม่กล้าลงมือ คดีก็ไม่เกิด 

ดังนั้นการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เพื่อทำลาย ‘สามเหลี่ยมอาชญากรรม’