'ญี่ปุ่น' แชมป์ผุดธุรกิจในอีอีซี ระยองรั้งแหล่งลงทุนสูงสุด

'ญี่ปุ่น' แชมป์ผุดธุรกิจในอีอีซี ระยองรั้งแหล่งลงทุนสูงสุด

กรมพัมนาธุรกิจการค้า เผยยอดธุรกิจจดทะเบียนตั้งใหม่อีอีซี 5 เดือนเพิ่มขึ้น 5.27% ญี่ปุ่นแชมป์ ระยองแหล่งต่างด้าวลงทุนสูงสุด 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor (EEC) เดือน ม.ค.-พ.ค. 2564 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ รวม 2,875 ราย ทุนจดทะเบียน 7,518.93 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 จำนวน 2,731ราย เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 5.27% และมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 6,790.50 ล้านบาท คิดเป็น 10.73%

โดย 67.93% เป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 1,953 ราย การดำเนินธุรกิจปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี มีนิติบุคคลคงอยู่ ณ 31 พ.ค.2564 จำนวน 75,194 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.98 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี54,501 ราย คิดเป็น 72.49 %  จ.ระยอง 14,531 ราย  คิดเป็น 19.32%  และ จ.ฉะเชิงเทรา 6,162 ราย คิดเป็น 8.19% 

ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.50% รองลงมาคือการขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.44% และการผลิต คิดเป็น 15.06% ธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ที่มีจำนวนสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การผลิต  ขายส่ง/ปลีก และธุรกิจขายปลีกวัสดุก่อสร้าง

กลุ่มธุรกิจบริการ คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 13,860 ราย มีรายได้ 50,706.69 ล้านบาท, ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 5,122 ราย มีรายได้ 46,635.14ล้านบาท และ ธุรกิจขนส่งขนถ่ายสินค้า รวมถึงผู้โดยสาร จำนวน 2,096ราย มีรายได้ 28,373.83ล้านบาท

ด้านการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 40.88% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 47.14% รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วนคิดเป็น 11.77% และสิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็น 5.39% โดยมีการลงทุนในจังหวัดระยองสูงสุดคิดเป็น 52.73%

ขณะที่ธุรกิจลงทุนโดยสัญชาติญี่ปุ่นสูงสุด 3 อันดับแรก เรียงลำดับจากมูลค่าทุนจดทะเบียน ได้แก่

1. ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 79,815.33 ล้านบาท

2. ผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่าการลงทุน 38,720.91 ล้านบาท

3. ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 31,797.31 ล้านบาท