ภาคอสังหาฯชี้ 'ปิดแคมป์' สูญ 8 หมื่นล้าน/เดือน

(ชมคลิปด้านล่าง) นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ระบุ มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างส่งผลกระทบต่อแคมป์ก่อสร้างทั้งแนวสูงและแนวราบ อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง

ซึ่งแนวทางการปรับตัวเบื้องต้นในช่วง 1 เดือนนี้ ผู้ประกอบการมุ่งทำมาตรฐานแคมป์ก่อสร้างให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น โดยมาตรการแคมป์ก่อสร้าง ควรพิจารณาเป็นรายแคมป์ รายประเภท มากกว่าเหมารวมที่ส่งผลกระทบวงกว้าง

นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ในวันนี้อาจไม่สอดรับสถานการณ์ ซึ่งพรุ่งนี้จะเปลี่ยนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับ เวลารบกับข้าศึกก็ต้องเปลี่ยนอาวุธให้เหมาะสมเพื่อจะไม่ตายคาสนามรบ  ฉะนั้นควรปรับแผนให้ยืดหยุ่นทั้งนโยบายและการปฏิบัติสำคัญที่สุดในขณะนี้

"เป็นไปไม่ได้ที่เชื้อโรคจะหายไปในทันที สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ทางด้านสุขอนามัยกับภาคแรงงานเพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อโรค พร้อมคัดกรองผู้ติดเชื้อออกมารักษา เพราะถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ หรือไม่ดี หากถูกปิดยาวจะเกิดผลกระทบเหมือนกับร้านอาหาร"

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่ามาตรฐานแคมป์แรงงานก่อสร้างในไทยยังไม่เทียบเท่าต่างประเทศ และปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ทันทีที่มีการคัดกรองโรค หรือฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถกลับมาทำได้อย่างเดิม เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ทั้งสายพันธุ์อินเดีย แอฟริกาใต้

สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการปรับมาตรฐานเชิงสุขอนามัยให้ดีขึ้น เช่น ห้องน้ำ ถังน้ำ รวมทั้งพฤติกรรมของคนงานในแคมป์ เพื่อทำงานก่อสร้างกันต่อไปได้ และนำสู่การหาวิธีการให้สามารถ เปิดแคมป์ก่อสร้างให้เร็วที่สุดได้อย่างไร และเมื่อเปิดแล้วจะสามารถทำทำงานต่อไปได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร 

ด้านนายกสมาคมอาคารชุดไทย อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ระบุ มาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องช็อควงการอสังหาฯ กระทบต่ออาคารสูงมหาศาล โดยเฉพาะที่กำลังก่อสร้าง ต้องหยุดชะงัก 15-30 วัน หรือจะมีการขยายเวลาออกไปมากกว่า 30 วันหรือไม่

“การปิดแคมป์ก่อสร้างครั้งนี้หากประเมินความเสียหายที่เกิดกับผู้ประกอบการอสังหาฯ จากมูลค่าตลาดแนวราบและแนวสูง 9 แสนล้านบาท หารด้วย 12 เดือน หรือเฉลี่ยเดือนละ  7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการหยุดการก่อสร้าง ที่ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บนซัพพลายเชนไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง”

การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยรัฐพุ่งเป้ามาที่กลุ่มแรงงานก่อสร้าง หากคิดเชิงตรรกะ เมื่อระบุว่ากลุ่มนี้เป็นต้นเหตุปัญหาการแพร่ระบาด รัฐต้องดำเนินการเร่งด่วน 2 เรื่องหลัก 1.เข้ามาตรวจคัดกรองเพื่อแยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน คนที่ไม่ติดเชื้อจะได้ปลอดภัยไม่เป็นภาระ 2.จัดวัคซีนแบบเฉพาะเจาะจงมาให้กับแรงงานกลุ่มนี้ เพราะรัฐมีอำนาจการจัดสรรวัคซีน คู่ขนานกับการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อไปในอีก 15-30 วัน 

“อยากขอร้องภาครัฐว่าหากงานก่อสร้างยังไม่เห็นควรที่เปิดเร็ววันนี้ ก็ขอให้ผู้ประกอบการได้ซ่อมเก็บงาน เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้ เพราะไม่ใช่งานก่อสร้างแต่เป็นการซ่อมเก็บงานใช้คนงาน 2-3 คนต่อบ้าน/ห้องชุด ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 1-3 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการโอนได้ทำให้อุตสากรรมไม่เซหรือล้มลงไป”