ศก.เวียดนามขยายตัวสวนทาง3ชาติเอเชียถูกหั่นจีดีพี

ศก.เวียดนามขยายตัวสวนทาง3ชาติเอเชียถูกหั่นจีดีพี

ศก.เวียดนามขยายตัวสวนทาง3ชาติเอเชียถูกหั่นจีดีพี โดยการส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐในครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 42.6% เป็น 44,900 ล้านดอลลาร์ หนุนให้จีดีพีปรับตัวขึ้น

การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลในอินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าวิกฤตสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจะบรรเทาเบาบางลง เศรษฐกิจของประเทศจะพลิกฟื้น ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกอย่างเอสแอนด์พี หั่นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของสามประเทศนี้ สวนทางกับเวียดนามที่แม้ต้องรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนกัน กลับมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 6.6%

จีดีพีของเวียดนามในไตรมาสดังกล่าวขยายตัวเพราะอานิสงส์ด้านการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการส่งออกสมาร์ทโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นๆแม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวเกิดการระบาดของโรคโควิด-19ในหมู่คนงานที่โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งทางตอนเหนือของประเทศ

สำนักงานสถิติทั่วไปของเวียดนาม ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในครึ่งแรกของปีขยายตัว 5.64% จาก 1.82% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจจะน้อยกว่าที่“วีเอ็นไดเร็ค ซิเคียวริตีส์ ”คาดการณ์ไว้ที่ 7% แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจในยุคที่ทั่วทั้งภูมิภาคกำลังรับศึกหนักกับโรคระบาดใหญ่อย่างนี้

การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐในครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 42.6% เป็น 44,900 ล้านดอลลาร์ หนุนให้จีดีพีปรับตัวขึ้น ส่วนการส่งออกโดยรวมขยายตัว 28.4% เป็น 157,630 ล้านดอลลาร์ โดยมีซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ซึ่งครองสัดส่วนประมาณ 20% ของการส่งออกเวียดนาม เป็นบริษัทที่ผลิตสมาร์ทโฟนออกจำหน่ายในตลาดโลกมากที่สุด

ขณะที่การส่งออกสิ่งทอ รองเท้าและสินค้าประเภทอื่นๆไปยุโรปก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อานิสงส์จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างรัฐบาลเวียดนามและสหภาพยุโรป (อียู)ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563

162501055985

เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง เวียดนามจึงต้องผลักดันโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออก เช่นการก่อสร้างเทอร์มินัลใหม่ 2 แห่งที่ท่าเรือน้ำลึก Lach Huyen ในเมืองไฮฟง ทางตอนเหนือของเวียดนามที่เริ่มในช่วงกลางเดือนพ.ค. คาดว่าใช้ต้นทุนในการก่อสร้าง 7 ล้านล้านด่อง (304 ล้านดอลลาร์)

ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ท่าเรือน้ำลึก Lach Huyen รองรับเรือสินค้าเพิ่มขึ้น 14% เป็น 7.12 ล้านตันและรัฐบาลเวียดนามยังคงคาดการณ์ว่าปริมาณเรือสินค้าที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือนี้จะเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจขยายท่าเรือ

การมีแรงงานราคาถูกทำให้เวียดนามเป็นประเทศจุดหมายปลายทางหลักที่บริษัทต่างชาติสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมกลยุทธ์“ไชน่าพลัสวัน”ที่มีเป้าหมายสร้างความหลากหลายด้านการลงทุนของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ ซึ่งการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สหรัฐและจีนเริ่มทำสงครามการค้าในปี 2561

อย่างไรก็ตาม แม้มีข่าวดีจากเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวแข็งแกร่ง แต่ก็มีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ยังถือว่าไม่พ้นขีดอันตรายทั้งในมิติของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและในมุมของการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19

ล่าสุด เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์ ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอินเดีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่ขณะเดียวกัน ก็ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีน แอฟริกาใต้ และประเทศละตินอเมริกาส่วนใหญ่

เอสแอนด์พี ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียลงจาก 11% เหลือ 9.5% โดยให้เหตุผลว่า อินเดียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ลงจาก 7.9% เหลือ 6% และมาเลเซียลงจาก 6.2% เหลือ 4.1%

ในทางกลับกัน เอสแอนด์พีปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนจาก 8% สู่ 8.3%, บราซิลจาก 3.4% สู่ 4.7%, เม็กซิโกจาก 4.9% สู่ 5.8%, แอฟริกาใต้จาก 3.6% สู่ 4.2%, โปแลนด์จาก 3.4% สู่ 4.5% และรัสเซียจาก 3.3% สู่ 3.7% โดยตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเอสแอนด์พี

นักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี ระบุในรายงานว่า ปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่ระบบเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ (อีเอ็ม) ต้องเผชิญในขณะนี้คือแผนระดมฉีดวัคซีนที่เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกับเสริมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะบรรเทาความรุนแรงลงก็ต่อเมื่อสามารถระดมฉีดวัคซีนจนถึงระดับเดียวกับการมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว

ขณะนี้ในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ของภูมิภาคเอเชียมีการระดมฉีดวัคซีนเพียง 0.2 โดสต่อ 100 คนต่อวัน ซึ่งเอสแอนด์พี คาดการณ์ว่า หากอัตราการฉีดวัคซีนยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จะต้องใช้เวลาอีก 23 เดือนจนกว่า 70% ของประชากรในประเทศเหล่านี้จะได้รับวัคซีนครบโดส

นอกจากนี้ เอสแอนด์พียังระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงประการที่สองคือกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตแข็งแกร่งและเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น จนธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ตัดสินใจคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และทำให้หนี้สินต่างๆ ที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย