เปิดผลรพ.ราชวิถีนำร่องผู้ติดโควิด 'Home Isolaton'

เปิดผลรพ.ราชวิถีนำร่องผู้ติดโควิด 'Home Isolaton'

เปิดเกณฑ์คนติดโควิดที่จะ“Home Isolation” ต้องผ่านคัดกรอง 7 ข้อ บริบทสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมต้องเอื้อ ทุกรายต้องขึ้นทะเบียนกับรพ. ผู้ติดเชื้อที่ดูแลตัวเองที่บ้านหากยังออกไปนอกพื้นที่ ถือว่าจงใจแพร่เชื้อ มีความผิด รพ.ราชวิถีนำร่อง 18 ราย พบ16 รายหายดี

     เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 15.00 น. ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาจจะผู้ติดโควิด-19ตกค้างกว่า 1,000 รายที่อยู่ระหว่างรอเตียง อัตราการป่วยหนักเข้าไอซียูนั้น ในจำนวนผู้ติดเชื้อ  1,000 รายจะมีอยู่ 30 คน ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกัน มาตรการดูแลตัวเองที่บ้านจะดูตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ เช่นวันที่ 28 มิ.ย. ในกทม.มีการติดเชื้อ 1,400คน คาดว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยอาการสีเขียว ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งที่ไม่อยากนอนรพ. อยากอยู่บ้านมากกว่า จึงมีมาตรการเพิ่มการดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) แต่ทุกคนจะต้องขึ้นทะเบียนกับรพ.เพื่อติดตามอาการ  สำหรับผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมก็จะต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กับทั้งนิติกรคอนโด รวมถึงผู้พักอาศัยด้วย  และจะมีการหารือถึงมาตรการแยกดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) กำลังหารือในรายละเอียดวิธีการต่างๆ ร่วมกับภาคประชาสังคม

        การดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) หลักการ คือ 1.ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี  2.ไม่มีอาการ 3.มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 4.อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน 5.ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.) 6.ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และ7.ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้จะทำในผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือผู้ติดเชื้อใหม่ และผู้ป่วยที่รักษาตัวครบ 10 วันแล้ว ไม่มีปัญหาอีก 4 วันที่เหลือ ก็ให้ไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน 

        นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ติดเชื้อและดูแลตัวเองเองที่บ้านจะมีการแจกปรอทวัดไข้ แจกเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด ให้วัดผลวันละ 2 ครั้ง และรายงานผลให้แพทย์ทราบ หากแพทย์สงสัยสามารถสั่งให้ผู้ป่วยวัดใหม่ได้ เช่น สั่งให้ออกกำลังกายก่อนวัดปริมาณออกซิเจน ถ้าลดลงอาจจะส่งผลต่อการทำงานของปอด หรือมีอาการอื่นที่น่าสงสัยอาจจะสั่งให้รถพยาบาลมารับไปเอ็กซเรย์ปอดเพิ่มเติมได้ และจะมีงบประมาณสำหรับอาหาร 3 มื้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการจัดส่งอาหารในรูปแบบใด รวมถึงการส่งยา เช่น ฟาวิพิราเวียร์ หรือฟ้าทะลายโจรให้ด้วยในบางราย  

        ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยที่ต้องดูแลตนเองที่บ้าน คือ 1.ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน 2.ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร 3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ 4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
        5.สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย 6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น 7.แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

ผลนำร่องในผู้ป่วยรพ.ราชวิถี  

       นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ได้มีการนำร่องให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวของรพ.ราชวิถี จำนวน 18 ราย ดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งจากการติดตามผลพบว่ามี 16 ราย ที่หายดีไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น มีเพียง 1 ราย ที่ต้องส่งต่อ และอีก 1 ราย เป็นลูกของรายที่มีอาการเปลี่ยนแปลงจึงต้องส่งต่อไปรักษาที่รพ.พร้อมกัน

           “จากการติดตามการทำมาตรการรักษาตัวเองที่บ้านในต่างประเทศ พบว่ามี 10 % ที่ยังฝ่าฝืนออกมานอกบ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน ทุกคนต้องมีจิตสำนึก และถ้าเป็นผู้ติดเชื้อที่ให้ดูแลตัวเองที่บ้านได้แต่ยังออกไปนอกพื้นที่นั้น  มีการคุยกันว่าถือว่าเป็นการจงใจแพร่เชื้อ สามารถเอาผิดได้ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558”นพ.สมศักดิ์กล่าว