EEC หนุนการเติบโต  นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก

ธรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตในช่วงปี 2564-2566 หลังจากหดตัวรุนแรงในปี 2563 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตในช่วงปี 2564-2566 หลังจากหดตัวรุนแรงในปี 2563 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย โดยวิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.0% ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องเป็น 4.0% และ 3.0% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน (2) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ (3) ผู้ประกอบการต่างชาติมีแนวโน้มย้าย/ขยายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น และ (4) มาตรการกระตุ้นการลงทุน จากภาครัฐ

อย่าไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพแตกต่างกัน  โดยนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด และมีการย้ายฐานการลงทุนจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นมายังนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมากขึ้น จากการเป็นฐานการผลิตเชื่อมโยง Eastern Seaboard Development Program ที่สำคัญปัจจุบันจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนศักยภาพการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้พื้นที่ดังกล่าวดึงดูดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

นอกจากนี้รัฐยังได้วางแผนพัฒนาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อเสริมศักยภาพของพื้นที่ให้มีความโดดเด่นและอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม อีกทั้งรัฐบาลยังเห็นชอบแผนยกระดับบางโครงการ เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเชื่อมโยง EEC ไปสู่ภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหนุนไทยเป็น Hub การขนส่งอาเซียน

เมื่อพิจารณาในแง่การลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม คาดว่ายอดขายและให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมช่วง 3 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแผนทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว/นักลงทุนต่างชาติช่วยหนุนให้เกิดการเดินทางเพื่อธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งยังมีโครงการ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการลงทุนในภูมิภาค ที่ได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/2564 โครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 80.1% YoY มีมูลค่ารวม 1.2 แสนล้านบาท โครงการในพื้นที่ EEC มีมูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 

โดยผู้ประกอการต่างชาติที่มีแนวโน้มย้าย/ขยายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น อาทิ จีน (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ด้าน IT) ญี่ปุ่น (เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ) และมาเลเซีย (ฮาร์ดดิสก์) อีกทั้งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษีและการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจได้มากขึ้น อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของ BOI ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (จากเดิม 8 ปี) และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมถึงมาตรการจูงใจอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น การขยายเวลาการชำระคืนภาษี การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำหนดให้ลดภาษีในอัตรา 90% สำหรับการจัดเก็บภาษีปี 2564 เป็นต้น

ในระยะยาว การปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ในรูปแบบ Smart Park เป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบโจทย์รูปแบบธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต การใช้เทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน ตลอดจนการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะ ตลอดจนการลงทุนในสาขาอื่น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างดิจิทัลแพลตฟอร์มจะช่วยให้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเติบโตต่อไปได้ในยุค Industry Disruption