ปตท.สผ.เร่งแผนกำลังผลิตก๊าซฯ ทดแทนแหล่งเอราวัณล่าช้า

ปตท.สผ.เร่งแผนกำลังผลิตก๊าซฯ ทดแทนแหล่งเอราวัณล่าช้า

ปตท.สผ.เร่งทำแผนจัดหาปิโตรเลียมหลังติดปัญหาเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้าด้านกระทรวงพลังงาน หวังเจรจา 3 ฝ่ายชัดเจน ภายใน 2-3 เดือนนี้

แหล่งข่าวบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี (ในกลุ่ม ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ แปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ตามแผน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตในโครงการG1/61 (เอราวัณ)ได้ ซึ่งแผนงานในส่วนนี้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทสามารถรักษากำลังการผลิตก๊าซฯ ที่ระดับ 800ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขสัญญาฯ

ทั้งนี้ การที่บริษัทไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้เนื่องจากทางผู้รับสัมปทานรายปัจจุบัน คือ กลุ่มเชฟรอนฯ ยังไม่ยินยอมให้เข้าพื้นที่ ดังนั้น หากจะให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณในช่วงนี้ก็คงไม่ทันการแล้ว ซึ่งยอมรับว่า สิ่งที่ ปตท.สผ.ทำได้ในขณะนี้ คือการเร่งดำเนินการหาแนวทางจัดหาปิโตรเลียมเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯที่หายไปจากแหล่งเอราวัณ

“ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้ขอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประสานงานกับ เชฟรอนฯ เพื่อให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นหลุมผลิตจำนวน 8 แท่น เพื่อให้การผลิตก๊าซฯเป็นไปตามสัญญาPSC ในปี 2565 แต่จนถึงขณะนี้ หมดหวังแล้ว ถึงเข้าพื้นที่ ตอนนี้ได้ก็ไม่มีประโยชน์ มันล่าไป” แหล่งข่าว กล่าว

ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ. ประเมินเบื้องต้นว่า การเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า จะส่งผลให้กำลังผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณ หายไปประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากปัจจุบัน เชฟรอนฯ ไม่ได้มีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ซึ่งทาง ปตท.สผ.จะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ในการเข้าไปเตรียมการผลิตเพื่อให้แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญา PSC

ดังนั้น ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ บริษัท ปตท. เพื่อจัดทำแผนรองรับปัญหาดังกล่าว โดยทางปตท.สผ. จะเร่งผลิตก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมของตนเองในอ่าวไทย เช่น แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ขึ้นมาทดแทนปริมาณ 80% ของกำลังการผลิตก๊าซฯที่หายไป และส่วนที่เหลืออีก 20% อาจเป็นการจัดหาและนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทน ซึ่งคาดว่า ผลกระทบที่จะส่งผ่านต่อผู้ใช้ไฟฟ้าคงไม่มากนักเพราะเป็นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยมาทดแทน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การเข้าพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) ของกลุ่ม ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ที่ปัจจุบันยังมีความล่าช้า ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกับกลุ่มเชฟรอนฯได้สำเร็จนั้น กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พยายามเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการเจรจาร่วมระหว่าง 3 ฝ่ายอย่างต่อเนื่องคาดหวังว่าจะต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้